เราพร้อมแค่ไหนกับเวทีแข่งขันด้วยหลักสูตรฐานสมรรถนะ

เราพร้อมแค่ไหนกับเวทีแข่งขันด้วยหลักสูตรฐานสมรรถนะ

 
 
เรากำลังอยู่บนโลกของการเปลี่ยนแปลง โลกที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้นกับเทคโนโลยีที่หมุนไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดทำให้หลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับสภาวะ Digital Disruption ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ มุมของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ผลักดันให้โลกการศึกษารวมถึงประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาบุคคลให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีทักษะและความสามารถที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันบนเวทีโลกที่เข้มข้น หรือที่เรียกว่า “สมรรถนะ (Competency)”
 

หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกของการศึกษา นานาประเทศให้ความสนใจและใช้หลักสูตรนี้เพื่อพัฒนาระบบการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว เช่น ราชอาณาจักรเบลเยียม ประเทศแคนาดา (รัฐควีเบค) พ.ศ.2541 สาธารณรัฐฝรั่งเศส พ.ศ.2548 สาธารณรัฐสิงคโปร์ พ.ศ.2555 สาธารณรัฐเกาหลีใต้ พ.ศ.2555 ญี่ปุ่น พ.ศ.2556 ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ.2557 ประเทศนิวซีแลนด์ พ.ศ.2558 ประเทศฟินแลนด์ พ.ศ.2559 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ.2558 - 2560

สำหรับประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาของชาติฉบับใหม่เพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาเด็กไทยให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและเผชิญกับโลกอนาคตที่ไม่แน่นอน ซึ่งได้จัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. ที่พัฒนาขึ้นตามแนวคิดการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กทุกคนมีสมรรถนะหลักที่จำเป็น ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และต่อยอดสมรรถนะหลักและสมรรถนะอื่นได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

สมรรถนะหลัก 6 ด้านที่จำเป็นมีอะไรบ้าง

สมรรถนะหลัก (Core Competencies) เป็นสมรรถนะพื้นฐานที่ผู้เรียนต้องได้รับการสนับสนุนและเน้นทักษะในการแสวงหาความรู้ เรียนรู้ด้วยตนเอง ให้เป็นความสามารถติดตัวนำไปปรับใช้ต่อยอดสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น สมรรถนะหลักเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้เด็กไทยมีทักษะที่ดีเป็นบุคคลที่มีความสามารถพร้อมต่อโลกของการแข่งขันประกอบด้วย

  1. การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ การรู้จัก รัก เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น การรู้จักตั้งเป้าหมายในชีวิตและกำกับตนเองในการเรียนรู้และใช้ชีวิต การจัดการอารมณ์และความเครียดรวมถึงการจัดการปัญหาและภาวะวิกฤต สามารถฟื้นคืนสู่สภาวะสมดุล เพื่อไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายในชีวิต มีสุขภาวะที่ดีและมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดี
  2. การสื่อสารด้วยภาษา สามารถรับรู้ รับฟัง ตีความ และส่งสารด้วยภาษาต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการคิดที่นำไปสู่การเรียนรู้ ความเข้าใจ การแก้ปัญหาร่วมกันผ่านวิธีการสื่อสารที่ชาญฉลาดและสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
  3. การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การปฏิบัติตนอย่างรับผิดชอบในฐานะพลเมืองไทยและพลโลก รู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เคารพในกฎของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความหลากหลาย เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีบทบาทในการตัดสินใจและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยยึดมั่นในความเท่าเทียม ค่านิยมประชาธิปไตย และสันติวิธี
  4. การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้ สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณบนหลักเหตุผลอย่างรอบด้าน ใช้คุณธรรมตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ ใช้จินตนาการและความรู้สร้างทางเลือกใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างมีเป้าหมาย มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) การคิดเชิงระบบ (System Thinking) การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) และการคิดแก้ปัญหา (Problem Solving Thinking)
  5. การจัดการและการทำงานเป็นทีม การรวมพลังทำงานเป็นทีม มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนทั้งของตนเองและร่วมกับผู้อื่น ให้สำเร็จตามเป้าหมาย มีภาวะผู้นำ มีการประสานความคิดเห็นที่แตกต่างสู่การตัดสินใจและแก้ปัญหาเป็นทีม มีความรับผิดชอบร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
  6. การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของโลก ความสัมพันธ์ของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติในชีวิตประจำวัน รู้เท่าทันวิทยาการเทคโนโลยี มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต เห็นคุณค่า สามารถแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เพื่อการดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
 

สมรรถนะเริ่มได้จากกิจกรรม

จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่แผนการนำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ไปใช้ทุกโรงเรียนในปี 2567 การปรับที่สำคัญนี้คือการเปลี่ยนไปของระบบและวิธีการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลเพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนได้บรรลุความสามารถหรือไม่ มี 6 แนวทางให้เกิดสมรรถนะจากการออกแบบกิจกรรมของครู ได้แก่

 
 
  1. ต่อยอดให้ได้พัฒนาสมรรถนะ คุณครูสามารถออกแบบการสอนตามปกติ โดยสอดแทรกสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทเรียนนั้น ๆ โดยเพิ่มกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะที่ต้องการ
  2. ใช้ความรู้และทักษะได้ในสถานการณ์จริง มีลักษณะเหมือนกับแนวทางที่ 1 พร้อมเน้นสมรรถนะที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลายได้
  3. วิเคราะห์เชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ นำรูปแบบการสอนที่ใช้อยู่มาวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย เชื่อมโยงกับสมรรถนะ และเพิ่มเติมกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะนั้นให้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
  4. ใช้ทักษะและตัวชี้วัดมาออกแบบร่วมกัน นำสมรรถนะและตัวชี้วัดที่สอดคล้องมาออกแบบการสอนร่วมกันเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ใช้ทักษะพร้อม ๆ กับการพัฒนาสมรรถนะ
  5. ผสมผสานหลายสมรรถนะให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชา นำสมรรถนะหลักหลายสมรรถนะเป็นตัวตั้ง แล้วออกแบบการสอนแบบบูรณาการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชา
  6. นำสมรรถนะมาใช้ในชีวิตประจำวัน นำสมรรถนะไปสอดแทรกในกิจวัตรประจำวันของผู้เรียน จะเป็นกิจวัตรที่บ้านหรือที่โรงเรียนก็ได้เพื่อฝึกพัฒนาสมรรถนะนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
 

การเตรียมความพร้อมของครู

หากมองเหรียญอีกด้านของ Digital Disruption มันคือตัวปลดล็อกชั้นดีที่ทำให้คุณครูรู้จัก เข้าใจ และนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ที่พิสูจน์ได้จากสถานการณ์โควิดที่ครูหลายท่านนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อไม่ให้การเรียนรู้ต้องสะดุดในรูปแบบการสอนแบบ online การเพิ่มโอกาสและบทบาทให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำหน้าที่กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ ให้คำปรึกษาเพื่อให้รู้จักการเชื่อมโยงความรู้สู่การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้คือใบเบิกทางที่ดีสำหรับครูเพื่อเตรียมตัวไปพร้อม ๆ กับผู้เรียนด้วยแนวทางที่ขอนำเสนอดังนี้

 
 
  1. เปิดโอกาสให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริงสามารถสร้างความรู้และเป็นเจ้าของความรู้ด้วยตนเอง พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนหรือกลุ่มต่าง ๆ มากกว่าการเรียนรู้เพียงแค่ในตำรา
  2. สร้างบรรยากาศของการแสวงหา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดการสร้างสรรค์ความรู้ร่วมกันให้มากขึ้น
  3. เน้นความสามารถและสมรรถนะโดยใช้พื้นฐานความรู้จากบทเรียนและท้าทายด้วยกิจกรรมที่นำความรู้ไปใช้ได้จริง
  4. สนับสนุนให้ฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาเป็นและคิดอย่างสร้างสรรค์เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) คิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) การคิดแก้ปัญหา (Problem Solving Thinking) ความร่วมมือ (Collaborative) และการสื่อสาร (Communication) เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนคิดและสรุปได้ด้วยตนเอง สามารถนำความคิดและข้อสรุปไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
  5. ปั้นนักเรียนให้เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะและตระหนักในความรู้ความสามารถของตนเอง กล้าคิดและกล้าแสดงออก อดทนและมุ่งมั่นในการหาเหตุผลมาสนับสนุนองค์ความรู้ของตนเอง มีใจกว้างและมีเหตุผลพร้อมทักษะในการแสวงหาความรู้

หลักสูตรฐานสมรรถนะ คือความเป็นสากลของหลักสูตรการศึกษาที่สร้างผลดีให้กับอนาคตต่อระบบการศึกษาไทย มันคือโอกาสที่ดีในการเปิดแนวคิดและท้าทายการทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อเตรียมเด็กไทยให้พร้อมกับโลกของการแข่งขัน ครูคือผู้อำนวยการเพื่ออยู่เคียงข้างผู้เรียนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ บทบาทหลักคือการถ่ายทอดและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ จากนี้ไประบบการศึกษาไทยจะไม่เหมือนเดิม รูปแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ คิดอย่างมีเหตุผลได้ด้วยตนเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วกระบวนการเรียนการสอนเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีครูผู้ที่เติมเต็มหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ได้ดีที่สุด

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
Share

Relate article