4 เป้าหมายสำคัญ ของการวัดและประเมินผลที่ดี

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
 

4 เป้าหมายสำคัญ ของการวัดและประเมินผลที่ดี

 

 

สะท้อนคุณภาพผู้เรียนผ่านการวัดและประเมินผล อักษร เอ็ดดูเคชั่น และ ศูนย์การศึกษาซาเลเซียน จัดทำโครงการ “การพัฒนาการทดสอบและความสามารถในการวัดและประเมินผล เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน”

 

วันนี้ เรามาเจาะลึกถึงความสำคัญของการวัดและประเมินผลต่อกระบวนการเรียนรู้ จากคุณกิติโรจน์ ปัณฑรนนทกะ (Lead of Assessment - Learning 1) หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ “การพัฒนาการทดสอบและความสามารถในการวัดและประเมินผล เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์การศึกษาซาเลเซียน กับ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

ครูหลายคนคงจะคุ้นกับโมเดล OLE ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดการเรียนการสอนมาบ้างแล้ว คือ

  1. Objective จุดประสงค์การเรียนรู้ที่ครูกําหนดไว้ก่อนการสอน
  2. Learning ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ครูจัดให้กับนักเรียน เป็นการฝึกปฏิบัติกิจกรรมให้นักเรียนมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป
  3. Evaluation การวัดและประเมินผล เป็นสิ่งที่บอกว่า การจัดการเรียนการสอนของครูเป็นไปตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

 

จะเห็นได้ว่า การวัดและประเมินผลเป็นองค์ประกอบสุดท้ายของโมเดลนี้ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ครูรู้ว่า วิธีสอนที่ครูใช้อยู่นั้นได้ผลดีหรือไม่

“ถ้าเราไม่มีการวัดและประเมินผล เราก็จะไม่รู้ว่า นักเรียนเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านใด มากน้อยเพียงใด รวมไปถึงจะไม่สามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของคุณครูได้ เพราะมองไม่ออกว่า จะแก้ที่จุดไหน” คุณกิติโรจน์ย้ำถึงความสำคัญของการวัดและประเมินผล ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ 4 อย่างด้วยกัน คือ

  1. เพื่อจัดตําแหน่งผู้เรียน

    ครูรู้ได้ว่า ผู้เรียนมีความเก่งด้านใด ในกรณีที่ต้องการคัดเลือกนักเรียนที่มีความถนัดทางวิชาการไปแข่งขัน หรือส่งเสริมนักเรียนในด้านที่เขาถนัด
  2. เพื่อคัดแยกประเภทผู้เรียน

    ครูวางแผนการสอนได้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียน รู้ว่า นักเรียนแต่ละคนมีความสามารถทางวิชาการมากน้อยเพียงใด นักเรียนที่มีความถนัดทางวิชาการน้อยควรเริ่มจากการเรียนรู้ที่ง่ายก่อน แล้วค่อยพัฒนาไปยากขึ้น ส่วนนักเรียนที่มีความถนัดมาก ครูก็สามารถส่งเสริมได้มากขึ้นด้วยกิจกรรม หรือการออกแบบการเรียนการสอนที่ท้าทายกว่า
  3. เพื่อวินิจฉัยผู้เรียน

    ครูรู้ว่า นักเรียนแต่ละคนมีจุดเด่น จุดด้อยอะไร เมื่อจัดกิจกรรมจะได้พัฒนาได้ถูกจุด และยังตอบโจทย์การทํา วPA ของครู สพฐ. อีกด้วย
  4. เพื่อวัดความก้าวหน้าของผู้เรียน

    ปัจจุบันการวัดและประเมินผลจะเน้นไปที่ Formative Evaluation หรือการวัดและประเมินผลระหว่างทาง เพราะเห็นพัฒนาการผู้เรียนได้หลากหลายกว่า รู้ว่า ผู้เรียนมีความก้าวหน้า หรือมีพัฒนาการทางการพฤติกรรมการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด หากมีจุดไหนที่นักเรียนยังไม่ผ่านหรือยังไม่เข้าใจ ครูจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีสอน ออกแบบกิจกรรมใหม่ หรือใช้สื่อเพิ่มเติม จนผู้เรียนสามารถผ่านตัวชี้วัดระหว่างทางได้

 

คุณกิติโรจน์ยังชี้ให้เห็นช่องโหว่ของการวัดและประเมินผลด้วยข้อสอบเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยใช้ทั่วไปในสมัยก่อนไว้ว่า

“วิธีนี้อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะผู้เรียนที่ได้ศูนย์ ไม่ได้แปลว่า เขาไม่มีความรู้หรือไม่มีทักษะเกิดขึ้น และครูไม่สามารถบอกได้ว่า ผู้เรียนมีความรู้มากน้อยแค่ไหนจากการวัดผลในรูปแบบนี้ อย่างไรก็ตาม Summative Evaluation หรือการประเมินเพื่อตัดสินผล ยังคงต้องมีในบ้านเรา เพื่อดูว่า ผู้เรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรหรือไม่”

นอกจากนี้ คุณกิติโรจน์ยังมองว่า ครูสมัยใหม่ควรใช้การวัดและประเมินผลตามสภาพจริงของนักเรียน คือ ไม่ได้ใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถทำได้ผ่านวิธีการที่หลากหลาย เช่น การสัมภาษณ์ การตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน การสํารวจ การสอบถาม การใช้แฟ้มสะสมงาน หรือการสังเกต

สุดท้ายแล้ว หากครูใช้การวัดและประเมินผลที่ดีและมีประสิทธิภาพจริง ทั้งหมดนี้จะสะท้อนผ่านคุณภาพผู้เรียนของเรา การวัดและประเมินผลจึงเป็นหนึ่งในหัวใจของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำหน้าที่คล้ายเข็มทิศชี้ทางให้ครูเดินหน้า หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพต่อผู้เรียนมากที่สุด

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
 
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
 
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
 
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
 
 
 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง