จุดประกาย ICT เพื่อการศึกษาไทย – จะทำให้ดี ต้องทำอย่างไร กรณีศึกษาจากสหราชอาณาจักร e-learning credits (eLCs) / Harnessing Technology Grant
จุดประกาย ICT เพื่อการศึกษาไทย – จะทำให้ดี ต้องทำอย่างไร
กรณีศึกษาจากสหราชอาณาจักร e-learning credits (eLCs) / Harnessing Technology Grant
เมื่อวันก่อนผมอ่านข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ ‘6 ยุทธศาสตร์’ ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีหัวข้อต่างๆดังนี้
(1) หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
(2) ครู
(3) การทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพ และการพัฒนามาตรฐานการศึกษา
(4) ผลิต พัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ
(5) ICT เพื่อการศึกษา
(6) การบริหารจัดการ
วันนี้ผมขอเจาะเรื่องที่ (5) ICT เพื่อการศึกษา ซึ่งน่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ ผมไปเปิดอ่านเอกสาร ‘จุดเน้น 6 ยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ’ อ่านแล้วผมก็รู้สึกเป็นห่วงเหลือเกินว่ารัฐอยากจะทำเองเสียหมด ทั้งๆ ที่รัฐเองก็ไม่ถนัดหรือไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ฐานข้อมูล เนื้อหาสาระ/องค์ความรู้
ดูเผินๆ แนวคิด ‘รัฐทำเองทั้งหมด’ ดูเหมือนว่าดี น่าทำ … หากแต่โลกวันนี้หมดยุคไปแล้วสำหรับความคิดว่ารัฐจะต้องทำเองทั้งหมด มีบทพิสูจน์มากมายจากการที่รัฐลงมือทำ “กิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์” ที่ดูดีในแผนแม่บทการทำงาน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาน่ารันทด เช่น องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) และองค์การต่างๆอีกหลายแห่ง
ซึ่งล้วนแต่ไม่สามารถให้บริการสาธารณะที่ดีได้ แถมยังเป็นตัวถ่วงให้บริการสาธารณะในประเทศไทยไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร ประเทศไทยได้เรียนรู้แล้วว่าการดึงให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมแข่งขันให้บริการสาธารณะเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพการบริการได้อย่างดี เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายการบิน ระบบโทรศัพท์มือถือ (ซึ่งหากเราให้ ทศท. เป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียว วันนี้คนไทยอาจคงยังคงต้องกรอกเอกสารเป็นปึกทำเรื่องขอใช้โทรศัพท์ แล้วรอ 2 ปีกว่าจะได้เบอร์โทรศัพท์ใหม่)
ในระบบการศึกษาเช่นกัน มีบทพิสูจน์มากมายจากประเทศต่างๆทั่วโลก ว่าการดึงให้ภาคภาคเอกชน เข้ามาร่วมแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพ สามารถช่วยสร้างการศึกษาที่ดีขึ้นได้ วันนี้ผมจะขอเล่าให้ฟังถึงกรณีศึกษาจากสหราชอาณาจักรในการจุดประกายเรื่อง ICT เพื่อการศึกษาโดยใช้ e-learning credits (eLCs) (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Harnessing Technology Grant)
[Disclosure Note: อนึ่ง ผมต้องขอออกตัวแบบเปิดเผยว่า ผมทำธุรกิจด้านการศึกษา และ เป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย แต่ในขณะเดียวกันผมก็มีความฝันที่จะยกระดับการศึกษาไทยให้เทียบชั้นนานาชาติและผมเดินทางไปยังที่ต่างๆทั่วโลกเพื่อหาต้นแบบ/แนวคิด/แนวทางที่ประเทศไทยจะนำมาประยุกต์ใช้ในพัฒนาการศึกษาได้จริง
ผมต้องการพิสูจน์ให้สังคมไทยเห็นว่า
(1) องค์กรเอกชนที่แสวงหากำไร for-profit enterprise สามารถมี social mission ทำธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้เช่นกัน และ
(2) องค์กร For-Profit Enterprise with Social Mission
สามารถมีอยู่จริงและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับองค์กรอื่นๆต่อไป
กลับมาเข้าเรื่องครับ ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรี Tony Blair แห่งสหราชอาณาจักร ต้องการให้ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนได้ดีขึ้น รัฐบาลจึงตั้ง e-learning credits (eLCs) ขึ้นในปี 2001 งบประมาณ eLC เริ่มต้นจากก้อนเล็กๆในปี 2001 ที่ 50 ล้านปอนด์ต่อปี (~2,600 ล้านบาท)
และเพิ่มขึ้นในปี 2003 เป็น 280 ล้านปอนด์ตลอด 3 ปี (~ 15,000 ล้านบาท) ในปี 2007-2008 รัฐบาลจัดสรรเงิน eLCsให้แก่โรงเรียนทุกโรงตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยม เป็นจำนวนเงินเท่ากับ 1,000 ปอนด์ต่อโรง + 3.42 ปอนด์ต่อหัวนักเรียนอายุ 3-15 ปี เพื่อให้โรงเรียนใช้ซื้อ digital learning resources เพื่อยกระดับการเรียนการสอน (ห้ามใช้ eLCs ซื้อ Hardware)
ต่อมาในปี 2008 รัฐบาล Gordon Brown ได้เปลี่ยนชื่อจาก eLCs เป็น Harnessing Technology Grants เป็นจำนวนเงิน 639 ล้านปอนด์ ตลอด 3 ปี (~ 33,000 ล้านบาท) เพื่อให้โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาใช้พัฒนา broadband infrastructure, learning platform และ digital learning resources เพื่อการเรียนการสอนในโรงเรียน
จากการลงทุนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้มากว่า 15 ปี โดยกระจายอำนาจให้โรงเรียนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า/บริการที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ส่งผลให้โรงเรียนในสหราชอาณาจักร มีการใช้เทคโนโลยีประกอบการเรียนการสอนมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ครูก็ได้ทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมผลิตสื่อการเรียนการสอนของสหราชอาณาจักร จึงก้าวหน้าขึ้นมาเป็นแนวหน้าของโลก (หากท่านได้มีโอกาสไปเดินดูงานแสดงสินค้าด้านสื่อการเรียนการสอนที่สหราชอาณาจักร ท่านจะเห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตสื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอนของเขาก้าวหน้าไปไกลมาก)
กลับมาที่ประเทศไทย หากรัฐบาลคิดจะทำเองเสียหมด ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยถนัด แล้วคิดเอาเองว่าจะทำอย่างโน้นอย่างนี้โดยไม่ถามครูผู้ใช้
ท้ายสุดประเทศไทยเราก็คงเสียงบประมาณไปโดยไม่ได้อะไรเหมือนที่ผ่านมานับสิบปี
สุดท้ายนี้ผมสรุปให้สั้นๆ จากกรณีศึกษาจาก e-learning credits (eLCs) ว่ารัฐควร
(1) กล้าลงทุนเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนแปลง
(2) กระจายอำนาจการตัดสินใจลงทุนไปให้โรงเรียน/ครูเป็นผู้เลือกเอง
(3) ดึงให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่ดี แล้วความฝันของห้องเรียนยุคใหม่ก็จะเป็นจริงได้ในประเทศไทย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แล้วคุณคิดว่าประเทศไทยของเราควรจะต้องเดินหน้าในเรื่อง ICT เพื่อการศึกษาอย่างไร
ลองเขียนมาแลกเปลี่ยนกันดูครับ
หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลจาก
1. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 2 กุมภาพันธ์ 2559 หน้า 20
2. เอกสาร “จุดเน้น 6 ยุทธศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ”
3. รายงาน BESA: ICT use in schools 1991-2015 http://www.besa.org.uk/sites/default/files/his2015_0.pdf
4. https://en.wikipedia.org/wiki/ELearning_Credits
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง