เมื่อนวัตกรรมทำงานแทน ทักษะอะไรที่คนรุ่นใหม่ ควรมีในโลกอนาคต
ผ่านมาไม่ถึง 20 ปี มีใครเคยลองนับนิ้วดูบ้างว่ามีอาชีพอะไรที่สูญหายไปจากชีวิตประจำวันเราบ้างแล้ว?
|
กระนั้นความน่ากังวลไม่ได้อยู่ที่เหล่าหุ่นยนต์ที่กำลังจะกรูกันเข้ามาแปะมือทำงานแทนคุณ (หรืออาจเป็นการโบกมือบ๊ายบายพร้อมใบหน้าเย้ยหยัน – หากพวกมันแสดงอารมณ์ได้) แต่เป็นคำถามที่ว่าแล้วทักษะทางวิชาชีพใดล่ะที่เราควรต้องพัฒนาเพื่อให้มีงานทำอย่างยั่งยืนต่อไปในยุค 4.0
บินมาประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่ประกาศตัวเป็นผู้นำ Industry 4.0 ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตั้งปณิธานไว้ว่าจะเป็นผู้นำระดับโลก
ด้วยเกาะแห่งนี้มีทรัพยากรมนุษย์ที่เพียบพร้อมในด้านองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม จากการส่งเสริมและผลักดันของรัฐบาลทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จทางเทคโนโลยี พร้อมกับเป็นแหล่งรวมตัวของนักลงทุนและบริษัทน้อยใหญ่หลากหลายสัญชาติ เพื่อสอบถามผู้เข้าร่วมงาน…
มีโอกาสสอบถามผู้เข้าร่วมงาน Industrial Transformation ASIA-Pacific 2018 เทศกาลแสดงสินค้าและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมและวิศวกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสัญจรของ Hannover Messe เทศกาลแสดงนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ Singapore EXPO ประเทศสิงคโปร์ – ก็ในเมื่อนวัตกรรมที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมากำลังจะเข้ามาทำหน้าที่แทนพวกเขา และเราจะทำยังไงต่อไปดี?
“เรียนรู้ที่จะเป็นคนควบคุมโปรแกรมออกคำสั่ง”
Nur Adibah อาจารย์จาก Singapore Polytechnics บอกว่าเพราะเครื่องมือเครื่องใช้และกระบวนการทำงานทุกอย่างในโลกอนาคตที่ใกล้เข้ามา จะถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่ระบบอัตโนมัติหมด ทางรอดทางวิชาชีพที่ยั่งยืนที่สุดคือการเป็นคนควบคุมโปรแกรมเหล่านั้นเสียเอง – “เรียนรู้ที่จะควบคุมโปรแกรมอัตโนมัติจะทำให้ชีวิตเราง่ายและสะดวกขึ้น เพราะฉันคิดว่าการก้าวไปข้างหน้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 บทบาทของแรงงานคนจะลดลงไป และหุ่นยนต์จะเข้ามาอำนวยความสะดวกเกือบหมด เช่นนั้นแล้วเราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น ก้าวนำหรือก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”
“รู้ลึกในวิชาชีพของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ช่ำชองในทางดิจิทัลด้วย”
Dr. Luke Peh รองคณบดี Singapore University of Social Sciences ย้ำว่าปัจจุบันเราไม่สามารถปฏิเสธการทำงานผ่านดิจิทัลได้เลย เช่นนั้นแล้ว อย่างน้อยที่สุด แรงงานรุ่นใหม่ควรมีทักษะสำคัญสามประการ – “ข้อแรกคือทักษะการจัดการทั่วไป เช่น การจัดการโครงการ การประสานงาน ข้อสองคือทักษะเชิงบูรณาการที่คุณสามารถใช้ในงานของคุณเองและอุตสาหกรรมอื่น เช่น ทักษะทางดิจิทัล และข้อสุดท้าย คือความชำนาญเฉพาะในงานที่คุณทำ”
“การคิดเชิงออกแบบ”
Cindy Ong ผู้จัดการทั่วไป Singapore University of Technology and Design (SUTT Singapore) บอกว่าการฝึกกระบวนการทางความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) คือทักษะที่ทำให้แรงงานรุ่นใหม่ยังมีที่ยืนอยู่บนโลก 4.0 อย่างมั่นคง – “เพราะวันข้างหน้าจะไม่มีปัญหาหรือทางแก้ปัญหาใดๆ โดยพื้นฐานที่จะสามารถจัดการได้ด้วยศาสตร์ความรู้ใดเพียงศาสตร์เดียว แต่เกิดจากการผสานศาสตร์หลากหลายเข้าด้วยกัน การคิดเชิงออกแบบจะช่วยให้สามารถเกาะติดกับปัญหาอันแตกต่างที่เรากำลังเผชิญ และสามารถสร้างสรรค์กระบวนการเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์”
“ใช้ Gadget ให้เป็น”
Jonas Berge ผู้อำนวยการอาวุโสสาขาเทคโนโลยีประยุกต์ Emerson Automation Solutions (บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) มาใช้เพื่อความปลอดภัยในการทำงานในโรงงาน) บอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนก็มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตกันอยู่แล้ว แค่เรียนรู้ที่จะใช้มันให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ก็เท่านั้น – “ยังมีแอปพลิเคชั่นอีกมากที่ช่วยทุ่นแรงเรา หรือรวมไปถึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานต่อไป การเรียนรู้ที่จะใช้ gadget ที่เรามีให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ก็เป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญในอนาคต”
“การวิเคราะห์ข้อมูล และการผสานศาสตร์ความรู้”
Dr.Vinayak Prabhu ผู้ช่วยผู้อำนวยการสาขาวิศวกรรมดิจิทัล Nanayang Polytechnic บอกว่าทุกวันนี้การเข้าถึงข้อมูลไม่ได้สำคัญมากไปกว่าการมีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การสั่งสมประสบการณ์และผสานทักษะและองค์ความรู้หลากแขนงก็เป็นเรื่องสำคัญ “ข้อแรกคือคุณต้องเก่งในวิชาชีพที่คุณร่ำเรียนมา เช่น ถ้าเรียนเรื่องการบิน ก็ต้องรู้จักอุตสาหกรรมการบิน รู้จักการซ่อมบำรุง ข้อสองคือทักษะทางดิจิทัล ตั้งแต่การควบคุมเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ และข้อสุดท้าย คือการรู้จักวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อเลือกนำมาใช้ประโยชน์ ที่สำคัญคือการรู้จักผสานศาสตร์ความรู้แขนงต่างๆ และทักษะทั้งหมดที่กล่าวมานี้เข้าด้วยกัน”
“ทักษะทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกล”
Scott Soh วิศวกรสนับสนุนงานขาย Seimitsu Factory Automation PTE Ltd. กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกมาพร้อมกับความต้องการทักษะทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกล สองทักษะนี้มีความเกี่ยวเนื่องอย่างมากต่ออุตสาหกรรมและตลาด จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะมีทักษะเหล่านี้เพื่อรองรับตลาดแรงงาน “นี่ยังรวมไปถึงความขวนขวายในการหาข้อมูลความรู้ ติดตามผลงานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ เตรียมพร้อม เท่าทันโลก และสุดท้าย เชื่อมั่นในตัวเอง มีศรัทธาในความฝัน วิ่งไล่ตามมัน และอย่ากลัว”
“ฝึกให้มีความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่อยู่เสมอ”
Rithe นักศึกษาสาขามัณฑนศิลป์ บอกว่าแม้เราอาจมีเทคโนโลยีที่ช่วยเราทำงานอย่างครบครัน แต่ก็ไม่มีเทคโนโลยีใดสามารถเอาชนะความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เราได้ “ก็ในเมื่อมนุษย์ใช้ความคิดเชิงนวัตกรรมสร้างสรรค์เทคโนโลยีมา นอกจากทักษะทางดิจิทัลพื้นฐานที่เราควรมีแล้ว การที่เราฝึกให้มีความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่อยู่เสมอนี่แหละ คือกุญแจสำคัญสู่อนาคต”
และนี่คือมุมมองของกลุ่มคนที่ทำงานเชื่อมโยงโดยตรงกับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ซึ่งก็พอจะสรุปได้ว่านอกจากทักษะและความรู้ในวิชาชีพที่เราร่ำเรียนมา ความเท่าทันโลก ทักษะทางดิจิทัล และการผสานศาสตร์ความรู้หลากแขนงเข้าด้วยกัน เหล่านี้เป็นทักษะที่แรงงานรุ่นใหม่ควรนำมาปรับใช้ในอนาคต และที่สำคัญที่สุดคือการฝึกให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ เพราะตราบใดที่คุณเป็นคนมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ คุณก็จะไม่มีวันอดตายไม่ว่าจะอยู่ในโลก 4.0, 5.0 หรือใดๆ จุดศูนย์ก็ตาม
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
- The MATTER
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง