Thai Education Guidelines Classroom of the future 2022
แกะแนวทางการศึกษาไทยและทิศทางห้องเรียนแห่งอนาคตจากนโยบาย ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้างของกระทรวงศึกษาธิการปี 2565
แนวทางการศึกษาและห้องเรียนแห่งอนาคตของไทยจะเป็นอย่างไร? เมื่อการศึกษาไทยเป็นหนึ่งในตัววัดผลและชี้นำความเจริญของชาติ ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทักษะบางอย่าง และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นจุดเน้นที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายอย่างปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง ละจุดเน้นงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2565 เข้ามากำหนดทิศทางการศึกษาไทย ห้องเรียนแห่งอนาคตในปีนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างมาดูกันครับ
เข้าสู่ปีใหม่กันอย่างเป็นทางการแล้ว เรื่องที่คาดไว้อย่างโควิด-19 ก็ตามมาหลอกหลอนการศึกษาของเราอยู่ ด้วยการระบาดของโอไมครอนจนวิวัฒนาการเป็นเดลตาครอนทำให้โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงถูกกำหนดให้เรียนออนไลน์ ยังมีโรงเรียนในบางจังหวัดที่โควิดไม่ได้ระบาดมากนักใช้การสลับไปโรงเรียนและเรียนออนไลน์ตามสไตล์ blended learning แล้วอย่างนี้ห้องเรียนแห่งอนาคตในปีใหม่นี้จะเป็นอย่างไร? การศึกษาไทยจะไปในทิศทางไหน? ยังคงติดอยู่ในวังวนของโควิด-19 เหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา หรือเน้นไปที่ทิศทางใด วันนี้พามาแกะแนวทางการศึกษาไทยจากนโยบายและจุดเน้นของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการปี 2565 กันครับ
โดยในแผนปี 2565 ของกระทรวงศึกษาธิการยังคงยึดการใช้แผนระยะยาวเดิมมาต่อยอด มุ่งเน้นการดำเนินตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) เป็นยุทธการพื้นฐานเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ให้พร้อมในทุกด้านและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการปรับตัว ยืดหยุ่นให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความผันผวนและไม่แน่นอนตลอดเวลาทั้งในเรื่องของโรคระบาดและเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบกับการศึกษาอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้กำหนดนโยบายออกมา 3ป. ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน และเปิดกว้าง เพื่อนำการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ดังนี้
1.ปลดล็อก ระบบการบริหารจัดการและการพัฒนากำลังคน
ป.แรกเป็นการปลดล็อกทางด้านการทำงานของระบบราชการภายในเพื่อให้การร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมประสานกันได้อย่างไม่ติดขัด ง่าย รวดเร็ว ลดข้อจำกัดและกระบวนการที่ไม่จำเป็นบางอย่างลง จัดระบบใหม่ประสานความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม ทางด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่าง ๆให้ลงตัวรวมถึง ปฏิรูปองค์การเพื่อหลอมรวมภารกิจและบุคลากร เช่น ด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารงานและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ปรับเปลี่ยน ระบบการจัดการศึกษาและการเรียนรู้
ป.ที่สองเป็นการปรับเปลี่ยนแกนกลางสำคัญนั่นก็คือระบบการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ โดยใช้หลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตเข้ามาสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากมายปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถ เพิ่มศักยภาพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกวัน เพราะการศึกษาไม่สามารถหยุดนิ่งได้ และนอกจากนั้นยังเน้นพัฒนาบุคลากรที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติอย่างครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถ Upskill และ Reskill ได้ตลอดเวลาผ่านศูนย์พัฒนาบุคคลด้วยความเป็นเลิศ (Humen Capital Excellence Center :HECE ) เพื่อส่งต่อความรู้สู่เยาวชนของชาติต่อไป
3. เปิดกว้าง ในด้านเงื่อนไขต่าง ๆ บรรลุผลตามนโยบายการศึกษายกกำลังสอง (Thailand Education Eco – System : TE2S)
โดยป.สุดท้ายนี้จะมุ่งเน้นไปที่การร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เปิดเสรีทางการศึกษาให้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพเข้ามามีส่วนร่วม ในการพัฒนาการศึกษาร่วมประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคล เพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) จากแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Education Excellence Platform : DEEP) ให้ครอบคลุมผู้เรียนทั่วประเทศ จัดระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก และความต้องการของตลาดแรงงาน โดยให้ทุกหน่วยงานพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันอย่างรอบด้าน ครบถ้วน ร่วมกันพิจารณาหาแนวทาง ขั้นตอน และวิธีการดำเนินการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ซึ่งในการจะทำให้นโยบายนี้เป็นไปได้จริงโดยสมบูรณ์ กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นถึงจุดเน้น 6 หัวข้อหลัก ดังนี้
1.การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
ในยุคศตวรรษที่ 21 นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องการมุ่งเน้นไปที่ด้าน ICT (Information and Communication Technologies) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดย 7 หัวข้อหลักที่ต้องการหยิบยกมาใช้งานคือ Data Center ศูนย์ข้อมูลกลาง, Big Data ข้อมูลขนาดใหญ่, Platform (e-library e-learning และ Teaching Resource Platform), e-book, e-office e-mail และ document, ระบบบริหารจัดการห้องเรียน School และ Classroom Management และโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure (Internet) และยังพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในความรู้และสมรรถนะด้าน Digital Literacy เช่น STEM และ Coding เป็นต้น อีกทั้งยังต้องการพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษาต่างประเทศโดยมีนโยบายการจัดหาครูต่างประเทศให้กับทุกโรงเรียน และพัฒนาศักยภาพครูให้เกิดการ Upskill และ Reskill เพื่อให้ทันโลกการเปลี่ยนแปลงจึงผลักดันแผนการศึกษายกกำลังสอง (Thailand Education Eco – System : TE2S) วางรากฐานสร้างกลไกขับเคลื่อนสำคัญคือจัดให้มีการก่อนตั้งศูนย์พัฒนาบุคคลด้วยความเป็นเลิศ (Humen Capital Excellence Center : HCEC) ในการพัฒนาศักยภาพครู โดยได้จัดตั้งศูนย์ HCEC กระจายไปตามโรงเรียนต่าง ๆ 185 ศูนย์ และอีก 100 ศูนย์ในสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะครูในสาขาวิชาต่าง ๆ เน้นพัฒนาครูทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ยังมีแผนในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาวิชาชีพเฉพาะแต่ละสาขาวิชาโดยกำหนดให้มี 436 แห่งในปัจจุบันได้มีการจับคู่ก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษา (Excellence Center) กับภาคเอกชนไปแล้วกว่า 30 แห่งและจะเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณใหม่นี้ นอกจากนี้ยังได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (Digital Education Excellence Platform : DEEP) โดยการเน้นการทำงานแบบผสมผสาน (blended learning) คือ HCEC จะเน้นการเรียนแบบ on site แต่ DEEP จะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จัดทำให้ ครู นักเรียน และบุคลากรทั่วไปที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ และมีการวัดผลโดยให้ผู้เรียน ครู ผู้บริหารทางการศึกษาสร้างแผนพัฒนารายบุคคลสู่ความเป็นเลิศ (Excellence Individual Development Plan : EIDP) การสร้างโครงการที่กล่าวมามุ่งเน้นการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยึดตามแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สามารถยืดหยุ่นและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลายังเน้นไปที่อนาคตของเด็กในตลาดแรงงานอีกด้วย นอกจากนี้ยังเริ่มต้นปลูกฝังเด็กแต่รากฐานคือการพัฒนาดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย เข้ามาดูแลในเรื่องของปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่อาจมีประสิทธิภาพการสอนได้ไม่เท่าโรงเรียนใหญ่โดยจัดตั้งโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ นอกจากพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้แล้วยังมีการปฏิรูปองค์การและโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ
2.การสร้างความสามารถในการแข่งขัน
โดยจุดนี้จะมุ่งเน้นไปที่สถาบันอาชีวศึกษาเป็นหลัก เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ Re-Skills, Up Skill และ New Skill ฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นโดยเติมเต็มช่องว่างทางด้านทักษะต่าง ๆโดยเฉพาะด้านนวัตกรรมที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน เพื่อมุ่งสู่การอาชีวศึกษาดิจิทัล (Digital College) ให้ได้มาตรฐานสากล จัดให้องค์กรมีคุณภาพจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เน้นร่วมมือกับสถานประกอบการชั้นนำ (Tailor-made Curriculum) ภาคเอกชนเพื่อยกระดับสู่นานาชาติ และผลักดันเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังตั้งใจสร้างค่านิยมและภาพลักษณ์ให้กับอาชีวศึกษาเพื่อให้เด็กยุคใหม่สนใจเข้ามาเรียนอีกด้วย
3.การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา
ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และมองเห็นถึงปัญหาสำคัญอย่างเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาทั้งก่อนหรือหลังสำเร็จการศึกษาให้ได้รับโอกาสในการจบการศึกษาภาคบังคับอีกด้วย
4.การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายโลกของ UN ในการจัดการเรียนรู้ให้สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเป็นอาชีพ และสร้างรายได้
5.การพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่นคง
จัดทำคู่มือมาตรฐานโรงเรียนเพื่อความเป็นเลิศออกมาเพื่อกำหนดพื้นฐานที่โรงเรียนทุกแห่งต้องมี เฝ้าระวังภัยทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในสถานศึกษา เช่น ยาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ การใช้ความรุนแรงในด้านร่างกาย จิตใจ และโลกออนไลน์ เป็นต้น
6.การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ
เป็นการปฏิรูปองค์การเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความเป็นเอกภาพของหน่วยงานต่าง ๆ ในการทำงานพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการศึกษา (Big Data) ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนและประชาชน และยังส่งเสริมองค์กรสีขาวโดยการยกระดับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
เราจะเห็นได้ชัดจากนโยบายและจุดเน้นข้างต้นว่ากระทรวงศึกษาธิการนั้นให้ความสำคัญกับห้องเรียนที่สามารถยืดหยุ่นได้ทั้งแบบออนไลน์และ on site ตามแบบฉบับ blended learning ที่ใช้การผสมผสานการเรียนรู้อาจจะด้วยสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันที่เป็นปัจจัยหลักแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกนั้นให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นไปทางพัฒนาศักยภาพการศึกษา ทรัพยากรมนุษย์ในด้านดิจิทัล STEM และ Coding มีการนำสื่อดิจิทัลต่าง ๆ ทั้งในด้านระบบ และการทำฐานข้อมูลเข้ามาปรับใช้ในองค์กร ส่งเสริม Platform (e-library e-learning และ Teaching Resource Platform) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 เน้นวิชาชีพ และทักษะที่ใช้ในตลาดแรงงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งได้มีการพัฒนาบุคลากรในด้านอาชีวศึกษามากขึ้น สร้างภาพลักษณ์และค่านิยมส่งเสริมให้เด็กยุคใหม่เข้ามาเรียนอาชีวศึกษาโดยเฉพาะด้านนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อผลักดันเข้าสู้ตลาดแรงงาน สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาเป็นทิศทางการศึกษาและตลาดแรงงานได้ประกอบกับแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2570) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายให้ปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านล้านบาท และดึงลงทุน 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 มีเทคโนโลยีของตัวเองในปี 2570 แต่จุดอ่อนที่สำคัญของไทยเรานั้นคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะยังขาดแคลนบุคลากรที่มีศักยภาพในการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ บูรณาการระบบ และพัฒนาระบบ ทำให้ทิศทางการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ของไทยจึงมุ่งเน้นไปที่ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีนโยบายในการส่งเสริมภาคอาชีวศึกษาเป็นพิเศษ ปัญหาเด็กจบใหม่ล้นตลาดและว่างงานในปัจจุบันประกอบกับค่านิยมที่เข้ามามีกระแสอย่างมากในต่างประเทศอย่างการเน้นรับคนที่มีความรู้และปฏิบัติงานได้จริงมากกว่าใบวุฒิการศึกษา แม้จะยังไม่แพร่หลายนักในไทยแต่ก็เป็นแนวโน้มที่สำคัญในการคาดเดาว่าการเรียนในรั่วโรงเรียนภาคสามัญอาจน้อยลงในอนาคต ผู้คนอาจเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือคอร์สระยะสั้นมากกว่า ห้องเรียนในอนาคตอีก 10 ปีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามกันได้กับสวัสดีวันเสาร์เรามาจากห้องเรียนแห่งอนาคต
อ้างอิง
- https://moe360.blog/2020/11/09/policy-focus-2022/
- https://www.prachachat.net/education/news-833959
- https://web.facebook.com/ThaiEdEcoSystem/posts/164201298631082
- https://www.matichon.co.th/politics/news_2531803
- https://www.kruachieve.com/ข่าวการศึกษา/ศธ-จัดทำร่างนโยบายและจุ/
- https://www.bangkokbiznews.com/business/925990
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
Relate article