เด็ก LD อ่านอย่างไร...ให้เป็นสุข!!
เด็ก LD อ่านอย่างไร...ให้เป็นสุข!!
หนังสือและการอ่านนับเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย (0-6 ปี) เพราะโครงสร้างต่างๆ ของสมองกำลังพัฒนาสูงสุดถึง 80%
หากมีการส่งเสริมพัฒนาการและสิ่งแวดล้อมกระตุ้นที่ดี เช่น การอ่านหนังสือหรือฟังเรื่องราวจากหนังสือ จะทำให้เด็กซึมซับแบบอย่างที่ถูกสะท้อนผ่านเรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือ เด็กก็จะค่อยๆ เรียนรู้ เลียนแบบและสะสมไปทีละเล็กละน้อย และหากผู้ใหญ่ช่วยคัดสรรหนังสือที่เหมาะสมให้กับเด็ก สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะการเรียนรู้ที่ดีให้แก่เด็กได้
ซึ่งทักษะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนก็มีความหลากหลายและแตกต่างกันออกไป บางคนเรียนรู้ได้ดี แต่สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities) หรือที่เรียกว่า “เด็ก LD” จะสามารถเรียนรู้จากหนังสือได้หรือไม่ มาร่วมหาคำตอบด้วยกันได้เลยครับ
LD คืออะไร
LD เป็นความบกพร่องของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกมาทางด้านปัญหาการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง โดยที่เด็กยังมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติและมีความสามารถด้านอื่นปกติ
ครอบครัวสามารถช่วยเด็กได้อย่างไร
ครอบครัวหรือคนรอบข้างสามารถช่วยเด็กได้โดยการอธิบายให้เด็กเข้าใจ สมาชิกในครอบครัวให้การยอมรับ เรียนรู้และเข้าใจถึงปัญหาความบกพร่องเฉพาะด้านของเด็ก รวมทั้งความรู้สึกของเด็กที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ควรเปลี่ยนพฤติกรรมจากการตำหนิ ลงโทษ เป็นความเข้าใจ ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก และชื่นชมเมื่อเด็กทำสำเร็จแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
หนังสือสำหรับเด็ก LD
เด็ก LD จะมีลักษณะพิเศษในการรับรู้ที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป ผู้ปกครองควรรู้ว่าเด็กมีความบกพร่องอย่างไร แล้วจึงออกแบบสื่อที่มีความเฉพาะเหมาะสมกับเด็ก แต่ในเบื้องต้นการมีหนังสือหรือสื่ออะไรก็ตามที่มีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อเฉพาะก็สามารถใช้พัฒนาเด็กได้ เพียงแต่ต้องช่วยสื่อสารให้เด็กเข้าใจ แต่ถ้าเป็นสื่อเฉพาะก็จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะในสื่อการอ่านของเด็กไม่ได้มีเพียงตัวหนังสือ แต่ยังมีภาพศิลปะต่างๆ เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะสามารถส่งผลต่ออารมณ์ของเด็ก และถ้าภาพมีเรื่องราว มีตัวละครก็จะทำให้เด็กสามารถพัฒนาการคิด จินตนาการและสร้างเรื่องราว โดยเนื้อหาหรือเรื่องราวที่เด็กสร้างขึ้นอาจจะไม่ตรงกับตัวหนังสือก็ได้
เพราะฉะนั้นหนังสือของเด็ก LD ควรมีตัวหนังสือน้อยและเน้นไปที่รูปภาพ เพื่อบอกเรื่องราวแทนตัวหนังสือ ให้เด็กทำความเข้าใจกับภาพที่ได้เห็นและใช้จินตนาการและสร้างเรื่องราวด้วยตนเอง เพราะการอ่านไม่ใช่เพียงการอ่านออก หรืออ่านหนังสือได้ แต่หมายถึงการอ่านที่ทำให้เกิดความสุข ความเพลิดเพลิน เกิดกระบวนการเรียนรู้และจินตนาการ นำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ เช่น การฟัง การพูด การเขียน การคิดวิเคราะห์ การอ่านจึงนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาตนเอง
การอ่านจึงนับว่าเป็นงานอดิเรกที่สามารถทำได้ทุกคน เพราะนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความรู้และจินตนาการแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้ง
1.ช่วยลดระดับความเครียด จากงานวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลของกิจกรรมต่างๆ ที่มีต่อการลดความเครียด พบว่าการอ่านให้ผลรวดเร็วและคงอยู่ได้นานกว่ากิจกรรมอื่นๆ
2.มีประโยชน์ต่อการนอนหลับ ก่อนนอนควรเปลี่ยนจากการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นการอ่านหนังสือแทนจะช่วยให้หลับง่ายขึ้น
3.สร้างความภูมิใจในคุณค่าตัวเองด้านบวก ยิ่งอ่านหนังสือได้มากขึ้น ความมั่นใจในตัวเองก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
4.ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบประสาทในสมอง เพราะการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะวรรณกรรมจะทำให้สมองหลั่งสารในการทำงาน มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางชีววิทยาและเคมี ซึ่งจะยังคงเกิดต่อเนื่องไปอีก 5 วัน แม้จะอ่านหนังสือจบไปแล้ว และ
5.ช่วยสร้างความผูกพันในครอบครัวและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้ดีขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
- แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เรียบเรียงโดย แพรวพรรณ สุริวงศ์
- www.thaihealth.or.th
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
Relate article