“ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง” แนะครูปฐมวัย .. อย่าปล่อยให้เด็กเสีย “เซลฟ์ (Self)”

 

ก้าวแรกของพัฒนาการในการเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น “ปฐมวัย” คือวัยที่สำคัญที่สุด แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในวันนี้ พัฒนาการของเด็กในช่วงปฐมวัยกำลังถูกจำกัดเพียงแค่แนวคิดที่ไม่เหมาะสมจากผู้ใหญ่ ดังเช่น "การสอบเข้า ป.1"

 

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร

 

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง สมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เวลาเราเห็นเด็กคนหนึ่งก็จะเห็นพฤติกรรม พฤติกรรมที่เราเห็นจะมี “สมองส่วนที่อัตโนมัติ” กับ “สมองส่วนที่ตั้งใจทำให้เกิดขึ้น” ในส่วนของสมองอัตโนมัติ ยังแบ่งเป็นอีกสองอย่างคือ “อัตโนมัติ” กับ “กึ่งอัตโนมัติ” เช่น การหายใจ และพฤติกรรมต่างๆที่เป็นแบบอัตโนมัติ คือเราไม่ต้องสั่ง หรือเป็นเรื่องที่เกินใจเราสั่ง ซึ่งในเด็กเล็กๆ สมองส่วนนี้พัฒนาอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

 

“สิ่งที่คนเป็นครูควรรู้คือ ครูทำงานต่อสู้กับพฤติกรรมของมนุษย์ตรงที่ สมองส่วนอารมณ์กับส่วนสัญชาตญาณแข็งแรงแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ครูพูดอะไรก็ตาม ทำอะไรก็ตาม อย่าไปกระตุ้นสมองทั้งสองส่วนนี้ หรือถ้าไปกระตุ้นแล้วต้องทำความเข้าใจว่า เด็กคนหนึ่งจะสามารถดูแลกำกับตัวเองได้ ก็ต่อเมื่อสมองส่วนหน้า (Executive Funtions - EF) ถูกฝึก เช่น หากเด็กร้องไห้แล้วเราอยากให้เขาเงียบ เราก็ต้องปลอบอย่าง ดุซ้ำไม่ได้

 

ซึ่งตรงนี้สิ่งที่อยากให้รู้คือ อย่างแรก - คนเป็นครูมีหน้าที่ส่งเสริม การที่ต่อว่าเด็กไม่ได้เป็นการส่งเสริม ไม่ได้สอนทักษะ ซึ่งเท่ากับไม่ได้พัฒนา อย่างที่สอง - สิทธิในการพัฒนาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก เด็กเขาบอกไม่ได้ว่าเขาอยากพัฒนา การศึกษาปฐมวัยจึงเกิดมาด้วยเหตุนี้ คือเด็กต้องมีสิทธิในการอยู่รอดปลอดภัย ความปลอดภัยนี้คือทั้ง “ใจ” และ “กาย” เพราะฉะนั้นการที่ครูต่อว่า ครูตวาด คือไม่ปลอดภัยทางด้านจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงส่งผลไปถึงพฤติกรรมของเด็ก

 

การส่งผลทางพฤติกรรมที่ว่านี้คือ ส่งผลไปทางสมองโดยกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์กับส่วนสัญชาตญาณให้ทำงานไม่ได้ ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เด็กต้องใช้ในการเรียนรู้ ใช้ในการเตรียมความพร้อม หมายความว่า เด็กสามารถนั่งเรียนนานๆ ได้ เด็กสามารถจับใจความคิดวิเคราะห์ได้ ในขณะเดียวกันเด็กก็ต้องยังคงความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองเอาไว้ได้ โดยสิ่งที่ครูสอนเด็กจะสามารถดึงกลับเข้าไป แล้วตอบในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้

 

 ครูปฐมวัยมีหน้าที่ทำอะไรก็ได้ให้เด็กรู้ว่า ตัวเองทำอะไรสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเรียน ถ้าครูสังเกตเห็นว่าเด็กทำอะไรไม่สำเร็จ ก็ต้องหาอะไรที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เด็กทำได้สำเร็จ เพื่อที่จะรักษาความอยากเรียนรู้ของเด็กเอาไว้”  ผศ.ดร.ปนัดดากล่าว 

 

ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวเสริมอีกว่า การเรียนการสอนที่เราเรียนอยู่ตอนนี้ เป็นการเรียนที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตนเอง สังเกตได้ว่าอะไรที่เรียนก็จะอยู่ที่โรงเรียน แต่พอออกนอกห้องก็เป็นเรื่องอื่น แต่จริงๆแล้วเรื่องที่เราเรียนที่โรงเรียน คือเรื่องที่เราจะต้องหยิบมาและเป็นทักษะชีวิต ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการให้ “เจตคติ” ต่อตนเองที่ดี ส่วนที่บอกว่าเด็กไม่ควรสอบเข้า ป.1 เพราะเด็กว่าอยู่ในวัยปฐมวัย เป็นช่วงที่กำลังฟอร์มตัวตนของเด็กอยู่ เริ่มฟอร์มปุ๊บก็ตก กับเริ่มฟอร์มปุ๊บก็ผ่าน แต่สิ่งที่ “ตก” หรือ “ผ่าน” คือเนื้อหาความรู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา เพราะฉะนั้นการสอบมันไม่ได้ตรงจุดตรงประเด็น การสอบยิ่งทำให้ เซลฟ์(Self) เสีย และการสอบก็ยังเป็นการละเมิดสิทธิ์ของเด็กอีกด้วย

 

“ถ้าไม่ให้สอบจะทำอย่างไร อันนี้ไม่ใช่ปัญหาของเด็ก .. ความยุติธรรมคือการจับฉลาก ซึ่งคนอาจจะมองว่าง่ายไปหรือเปล่าเพราะขึ้นอยู่ที่ดวง คือการจับฉลากเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องหากระบวนการ อย่างไรก็ต้องย้อนกลับไปด้วยว่าจับฉลากแล้วก็ต้องเตรียมครูด้วย ถ้าจับฉลากแล้วได้เด็กที่มีพัฒนาต่ำมา ครูต้องสอนได้ .. “โรงเรียนดี” คือโรงเรียนที่สามารถส่งเสริมเด็กได้ทุกรูปแบบ เพราะวิชาชีพครูถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนี้” ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
  • Parentsone.com
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง