กระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ ครูต้องเลิกถามว่า เข้าใจไหม และ ไม่รีบเฉลยคำตอบ
กระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ ครูต้องเลิกถามว่า เข้าใจไหม และ ไม่รีบเฉลยคำตอบ
- ครูผู้สอนสนับสนุนให้นักเรียน ‘คิดเอง ทำเอง ผิดเอง แก้เอง’ จะส่งผลต่อพัฒนาการความคิดวิเคราะห์เป็นอย่างมาก
- การถามคำถามเป็นหนทางพานักเรียนไปสู่นักคิดที่ดีได้ ทำให้พวกเขามั่นใจในตนเองและพิสูจน์ความคิดเห็นของตน อย่างมีเหตุผล กล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในความผิดพลาดล้มเหลว
- หากคุณครูมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้นักเรียนเป็นนักคิดที่ดีได้ ครูควรเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ที่ให้คำชี้แนะ และกระตุ้นวินัยการคิดให้เกิดขึ้นเป็นกิจวัตร
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เราอาจเคยหวังพึ่งพาคุณครูที่ยืนหน้าชั้นเพื่อบอกให้เด็กนักเรียนตั้งใจจดจำเนื้อหาที่จะออกสอบ โดยเฉพาะสูตรสำเร็จการจำเพื่อคว้าเกรดเฉลี่ยสูงๆ มาไว้ในใบรายงานผล แต่ปัจจุบัน เราต่างรู้ดีว่าแค่ความภูมิใจในใบเกรดเฉลี่ยไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้วในการทำงานจริง ชัยชนะจากการจำเนื้อหาเข้าไปตอบในสนามสอบไม่ช่วยอะไรเลย ‘การคิดแก้ปัญหาเป็น’ ต่างหาก
ทักษะที่นักเรียนต้องใช้แน่นอน คือการคิดแก้ปัญหาเป็น พวกเขาต้องสามารถคิดวิเคราะห์ ใช้วิจารณญาณเพื่อตัดสินใจ ไตร่ตรองแก้ปัญหา หรือกระทั่ง เรียนรู้ปรับตัวต่อสิ่งใหม่ในสถานการณ์ต่างๆ ที่ประสบได้ต่างหาก ปัจจุบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการท่องจำเพื่อไปสอบคงไม่เพียงพออีกต่อไป ความรู้ที่วัยเรียนต้องได้รับ ควรมาจากความเข้าใจผ่าน ‘การลงมือทำจริง’ ไม่ใช่รู้เพียงคอนเซปต์หลักการในตำราเรียนเท่านั้น
คุณครูต้องชี้จุดมุ่งหมายการเรียนรู้ให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าในสาระสำคัญที่ว่า พวกเขาเรียนสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร วิชา/กิจกรรมนี้ช่วยให้พวกเขาจะพัฒนาทักษะด้านใดได้บ้าง และทั้งหมดนี้นำไปใช้อย่างไรได้บ้างในโลกแห่งการทำงานจริง
บทบาทของครูผู้สอนที่สนับสนุนให้นักเรียน ‘คิดเอง ทำเอง ผิดเอง แก้เอง’ มีอานุภาพยิ่งใหญ่ต่อพัฒนาการความคิดวิเคราะห์เป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมา การศึกษาที่ไม่เน้นการคิดทำให้นักเรียนเชื่ออย่างมั่นใจว่า เอาเข้าจริงแล้ว คุณครูจะเป็นคนแก้โจทย์ต่างๆ ในห้องเรียน และปัญหาจะถูกเฉลยคลี่คลายตอนท้ายชั่วโมงอยู่ดี
แอนดริว มิลเลอร์ (Andrew Miller)
โค้ชการสอนจากมหาวิทยาลัย Shanghai American School ในประเทศจีนผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษา ชี้ว่า ปฏิกิริยาที่ครูไม่ทำตัวเป็นกรรมการชี้ถูกผิด แต่เป็นผู้รับฟังและกระตุ้นผลักดันการคิดของนักเรียนเมื่อต้องแก้ปัญหา เป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการทักษะความคิด ในแง่ของการช่วยให้พวกเขามั่นใจและกล้าตอบคำถามยากๆ โดยไม่กลัวว่าการพึ่งพาตนเองจะนำไปสู่ข้อผิดพลาด ในขณะเดียวกัน
ครูที่ยื่นมือเข้าไปช่วยคิดแก้ปัญหาให้ อาจส่งผลในทางตรงกันข้าม คือพัฒนาการจะไม่เกิดขึ้นเลย เมื่อนักเรียนคิดว่าคุณครูคือผู้ถือกุญแจไขประตูทางออกให้อยู่เสมอ
ภาพใหม่ที่ควรเกิดขึ้นคือ ครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนคิดวิเคราะห์หาเหตุผล กลไก ข้อโต้แย้ง หรือข้อพิสูจน์ในประเด็นนั้นๆ มาแก้ปัญหาเอง แล้วค่อยร่วมกันประเมินคำตอบนั้นว่าดีเพียงพอหรือไม่
วิธีที่คุณครูสามารถกระตุ้นกระบวนการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองให้เป็นคือ การถามให้คิด(Question) ใช้วลีกระตุ้นความคิด (Prompt) และบอกใบ้ให้คิด (Cue) คำถามกระตุ้นความคิด (Question)
ในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการคิด คำถามเป็นเครื่องมือสำคัญที่นอกจากสามารถวัดประเมินความเข้าใจของนักเรียนแล้ว ยังช่วยให้นักเรียนเชื่อมไอเดียระหว่างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้
ทิ้งคำถามประเภท “เข้าใจไหมคะ” ไปซะ คำถามที่กระตุ้นพัฒนาการคิดควรเป็นคำถามปลายเปิด และอย่าลืมให้เวลาพวกเขาในการใช้ความคิดสักเล็กน้อย แล้วค่อยเปิดโอกาสให้ตัดสินใจหรืออธิบายกระบวนการคิดและเหตุผล
ว่าด้วยคำถามช่วยเพิ่มหยักสมองให้นักเรียนนั้น คาร์ลี สวัทสกี (Carly Sawatzki) อาจารย์มหาวิทยาลัย Monash University ออสเตรเลีย แนะนำไว้ในบทความที่สอนวินัยการออมและบริหารจัดการเงินให้เด็กวัยรุ่นช่วง 10-12 ปี ว่าการตั้งคำถามปลายเปิด นอกจากกระตุ้นให้นักเรียนคิดหาคำตอบ ขณะเดียวกันก็สะกิดเตือนให้พวกเขาไตร่ตรองวิถีคิดของตน (ในบริบทของคาร์ลีคือ การตัดสินใจใช้เงินและบริหารจัดการเงินของเด็กๆ) ได้อย่างมีเหตุผล หลักการถามของคาร์ลีนี้ มีอยู่ด้วยกัน 6 ประเภท คุณครูสามารถนำคำถามเหล่านี้ไปประยุกต์ในชั้นเรียนทุกวิชาได้
- ถามถึงเหตุผล (Reasons): “ที่หนูตอบ/ตัดสินใจแบบนี้เพราะอะไร”
- ถามถึงหลักการ (Evidence): “หนูอธิบายให้ครูและเพื่อนๆ ฟังได้ไหมว่าทำไมนี่จึงควรเป็นคำตอบ/วิธีที่ดีที่สุด”
- ถามถึงขั้วตรงข้าม (Argument) : “หนูคิดว่าฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับหนู เขาคิดอย่างไรและเขามีเหตุผลอะไรบ้าง”
- ถามถึงผลกระทบต่อผู้อื่น (Impact on others): “การตัดสินใจนี้หรือคำตอบนี้ส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไรบ้าง”
- ถามถึงผลลัพธ์ (Consequences): “เมื่อตัดสินใจทำสิ่งนี้แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป”
- ถามถึงบทเรียนที่ได้รับ (Reflection): “อะไรคือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจนี้ และครั้งต่อไปจะทำในสิ่งที่แตกต่างหรือเหมือนเดิมอย่างไรบ้าง”
จากคำถามที่ช่วยกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ข้างต้น เมื่อลงมือทำแล้วผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคิด คำถามที่ดีจะช่วยนำทางให้พวกเขาเรียนรู้ว่า ยิ่งผิดเท่าไหร่ ยิ่งมากประสบการณ์
เพอร์รี่ ยีทแมน (Perry Yeatman)
อดีตรองประธานบริษัทอาวุโสและประธานมูลนิธิ บริษัทคราฟท์ฟู้ด จำกัด เจ้าของหนังสือแนวเปิดประสบการณ์การท่องโลกที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมายอย่าง Get Ahead by Going Abroad แชร์แนวการคิดวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจครั้งสำคัญทางการงานและอาชีพของเธอว่า เธอเองก็มักใช้การตั้งคำถามเช่นกัน
“เมื่อต้องตัดสินใจ คำถามที่ฉันมักถามตัวเองเสมอๆคือ ‘ถ้าเลือกทำอย่างนี้แล้ว ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร?’ จริงอยู่ที่คำบอกเล่าจากคนอื่นอาจช่วยได้บ้าง แต่มันเทียบไม่ได้กับประสบการณ์ที่ฉันได้ลองคิดและลองทำด้วยตนเอง นั่นต่างหากที่ทำให้ฉันเติบโตและน้อมรับผลแห่งการตัดสินใจของตนเองได้”
คำถามที่เพอร์รี่ใช้ถามตัวเองถึงผลลัพธ์ที่ดีสุดและเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับเธอนี้ ทำให้เธอกล้าเรียนรู้ กล้าลองเสี่ยง คว้าโอกาสในการรับตำแหน่งงานที่สิงคโปร์แทนประเทศในยุโรปที่วาดฝันไว้ตอนแรก และตามมาด้วยการที่เธอกลายเป็นนักผจญภัยผู้ประสบความสำเร็จ ได้เดินทางไปทำงานมาแล้วกว่า 50 ประเทศทั่วโลกภายในระยะเวลาสิบปี ก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในที่สุด
วิธีตั้งคำถามที่กล่าวมาสอดคล้องกับหลักการคิดวิเคราะห์พื้นฐานที่ควรเกิดขึ้นในชั้นเรียนตามที่ ปีเตอร์ เอลเลอร์ตัน (Peter Ellerton) อาจารย์สอนการคิดวิเคราะห์เคยกล่าวไว้อยู่มากทีเดียว โดยปีเตอร์แนะให้คุณครูที่ตั้งใจสร้างนักเรียนให้เป็นนักคิดคนเก่ง มุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสให้นักเรียนถกเถียงในชั้นเรียน โดยฝึกให้มองประเด็นอย่างต่างขั้วกันเสียก่อน ข้อดี-ข้อเสียคืออะไร การถกกันจะนำไปสู่การหาเหตุผลที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมาใช้สนับสนุน และพิจารณาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมในขณะนั้นด้วย เช่น อารมณ์ บริบทสังคม ค่านิยม ความเชื่อ อคติบางอย่าง
ท้ายที่สุด การหาข้อพิสูจน์ด้วยการทดลองปฏิบัติจริง พร้อมกับเก็บข้อมูล สืบค้นสถิติและงานวิจัยมาอ้างอิงก็เป็นเครื่องมือช่วยหาข้อสรุปหรือทางออกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
ในขณะที่การถามคำถามเป็นหนทางพานักเรียนไปสู่นักคิดที่ดีได้ ฟีดแบคที่คุณครูแสดงออกก็ต้องส่งแรงสนับสนุนให้พวกเขามั่นใจในตนเองและพิสูจน์ความคิดเห็นของตนอย่างมีเหตุผล ไปจนถึงกล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในความผิดพลาดล้มเหลวด้วยเช่นกัน เพราะเส้นชัยปลายทางไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด แต่คือการพัฒนากระบวนคิดของเด็กให้เติบโตรอบด้านต่างหาก
“ฮะ?” “อะไรนะ?” “แล้วไงต่อ” วลีเด็ดที่ครูใช้ได้ตลอดกาล (Prompt)
เคยเจอสถานการณ์ที่โจทย์ยากๆ ทำนักเรียนท้อแท้จนไม่ตอบคำถามมันซะดื้อๆ ไหม? นี่เป็นไม้เด็ดไม้ตายที่คุณครูทุกคนเป็นต้องหลงกลยอมเผยคำตอบหรือบอกวิธีคิดเล็กๆ น้อยๆ ให้นักเรียนเจ้าเล่ห์ยอมเปิดปากออกมาก่อน ตรงนี้สำคัญมาก คุณครูต้องประเมินให้แน่ใจก่อนว่า เนื้อหาอาจยากเกินไปจนนักเรียนไม่เข้าใจจริงๆ หรือเป็นลูกไม้ของจอมวางแผนให้เวลาในคาบเรียนนี้ผ่านพ้นไปอย่างไร้ประโยชน์ คุณครูต้องผ่านบททดสอบกำจัดจุดอ่อนบทสำคัญนี้ไปให้ได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า การสอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียนจะไม่สำเร็จเลย ตราบใดที่ไม่สามารถลบล้างทัศนคติที่นักเรียนยังมองครูเป็นผู้เฉลยคำตอบออกไปได้ และนักเรียนยังคิดเองไม่เป็น
เมื่อบรรยากาศห้องเรียนกำลังเจอทางตัน คุณครูอาจให้นักเรียนทวนเนื้อหาความเข้าใจหัวข้อหรือทฤษฎีก่อนแล้วลองเปลี่ยนคำถามใหม่ หรือ ให้นักเรียนช่วยกันยกตัวอย่างสิ่งที่คิดว่าใกล้เคียงกับเนื้อหาเพื่อแตกประเด็นหรือเชื่อมโยงไอเดียไปสู่สิ่งใหม่ หรือเปรียบเทียบระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการบอกขั้นตอนการคิดหาคำตอบโต้งๆ หรือเฉลยคำตอบแล้วค่อยถามความคิดเห็นนักเรียนจะดีกว่า
เจมส์ มาร์คัส บัค (James Marcus Bach)
คุณครูจอมขบถที่ดร็อปจากโรงเรียนด้วยวัยเพียง 13 ปีและศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจนกลายเป็นผู้จัดการอายุน้อยที่สุดในบริษัทแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ ผู้เขียนหนังสือ Secrets of a Buccaneer-Scholar ที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเอง แนะว่า 3 คำยอดฮิตที่คุณครูใช้กระทุ้งบรรยากาศการคิดของนักเรียนได้ตลอดกาลคือ “Huh?” “Really?” “So?” หรือ “ฮะ?” “จริงเหรอ?” และ “แล้วไงต่อ?” โดยความหมายที่แท้จริงของ 3 คำนี้ลึกซึ้งกว่าที่เห็นมากนัก กล่าวคือ
“ฮะ?” หมายถึง – “พวกหนูเข้าใจหัวข้อนี้รึเปล่า”
– “ลองใช้วิธีอื่นอธิบายอีกครั้งได้ไหมจ๊ะ”
-“งงตรงไหนไหม”
“จริงเหรอ?” หมายถึง -“ที่หนูอธิบายมานี่เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้รึเปล่า”
– “มีหลักฐานอะไรมาสนับสนุนไหมจ๊ะ”
“แล้วไงต่อ?” หมายถึง - “ใจความสำคัญคืออะไร”
-“เรื่องนี้ส่งผลอย่างไร”
-“เรื่องนี้ส่งผลกับใครบ้าง”
บอกใบ้เพื่อให้คิดต่อ (Cue)
การบอกใบ้ในที่นี้ คือการแสดงออกท่าทาง คำพูด ไปจนถึงการใช้สื่อโสตทัศน์ต่างๆ เช่น ลูกโลก แผนที่ รูปภาพหรือกราฟ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิดในประเด็นที่กำลังเรียนรู้อยู่ในเชิงลึกมากขึ้น หรือ อาจเป็นทำนองให้ลองนึกถึงสิ่งแปลกใหม่ แตกต่างจากที่พวกเขาเห็นว่าสัมพันธ์กับเนื้อหาดูบ้างก็เป็นได้ การตั้งคำถามและกระตุ้นการคิดด้วยวลีเชื่อมบทสนทนาดังที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นการบอกใบ้ทั้งสิ้น
แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ การบอกใบ้ด้วยท่าทาง ที่อาจตีความคลาดเคลื่อนไปในแง่ลบได้ จำเป็นต้องระมัดระวัง เช่น การเลิกคิ้วส่ายหน้าซึ่งอาจตีความได้ว่าคุณครูไม่เห็นด้วย การผายมือซ้ำๆ หรือชี้รูปภาพเพื่อกระตุ้นให้คิดนอกกรอบไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ก็ตามที อาจทำให้นักเรียนสับสนไม่มั่นใจก็เป็นได้ ดังนั้น อากัปกิริยาการบอกใบ้ที่จะเกื้อหนุนจุดประสงค์ให้นักเรียนกล้าคิด กล้าตอบได้เต็มประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อ คุณครูต้องมีโครงสร้างการสอนที่ปูทฤษฎีและเนื้อหาความรู้มาหนักแน่นพอให้นักเรียนมีขอบเขตในการคิดก่อนเช่นกัน
หากคุณครูมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้นักเรียนเป็นนักคิดที่ดีได้ ก็ต้องให้ตนเองสวมบทบาทเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ที่ให้คำชี้แนะ และกระตุ้นวินัยการคิดให้เกิดขึ้นเป็นกิจวัตร การอธิบายหลักการของเนื้อหาหลักยังจำเป็นต้องมี แต่จุดสำคัญที่ต่างออกไปอยู่ที่ คำถามหรือข้อสงสัยในชั้นเรียนจะไม่ถูกเฉลยโดยครูผู้สอนอีกต่อไป เมื่อคุณครูทำหน้าที่กระตุ้นส่งเสริมบรรยากาศในทางบวกให้พวกเขามีความมั่นใจและกล้าคิดกล้าทำ ผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจคือการได้เห็นพวกเขาตระหนักว่าทุกประสบการณ์ระหว่างทางที่พยายามคิดหาวิธีการ หรือ
คิดวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นจะลงเอยด้วยการเติบโตทางความคิดทีละเล็กละน้อยไปสู่คำตอบที่อาจกว้างใหญ่และมีคุณค่ากว่าแค่ถูกหรือผิด
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง :
- The Potential โดยคุณบุญชนก ธรรมวงศา
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง