ปรับรูปแบบการศึกษาอย่างไร? หากยุค Artificial Intelligence (AI) ครองเมือง
สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา EP.16
ปรับรูปแบบการศึกษาอย่างไร?
หากยุค Artificial Intelligence (AI) ครองเมือง
สิ่งที่ทำให้ “มนุษย์” แตกต่างจากสัตว์ คือเรื่องของทักษะที่สามารถวิวัฒนาการ และพัฒนาต่อไปได้ไม่สิ้นสุด ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทักษะของมนุษย์นำพาโลกให้ก้าวไกล โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างสิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยี เริ่มตั้งแต่เครื่องมือทำการเกษตรง่าย ๆ จนนำไปสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดคอมพิวเตอร์ ผู้คนมีอินเทอร์เน็ตใช้ หรือแม้กระทั่งการออกไปสำรวจนอกโลก สร้างโซเชียลมีเดียทำให้การสื่อสารไร้พรมแดน จนมาถึงยุคปัจจุบันของ “ปัญญาประดิษฐ์ หรือที่ใคร ๆ ก็เรียกกันว่า AI (Artificial Intelligence)”
เมื่อคุณพูดถึง AI ที่คุ้นหูคงมีไม่กี่เจ้า เช่น siri ของ IOS , Bard ของ Google หรือ ChatGPT ของ OpenAI ที่เป็นกระแสในวงการศึกษาของไทยอย่างมากช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมาเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นในชีวิตประจำวัน และมันสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านยุคทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ ด้านของอาชีพ และความเสี่ยงที่จะถูกนำมาแทนที่มนุษย์ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกการศึกษาของเราได้ในอีกหลาย ๆ ด้าน
Artificial Intelligence (AI) เข้ามามีบทบาทกับการศึกษาอย่างไร?
ในปัจจุบันมีการนำ AI เข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการศึกษามากมาย มีวิจัย และการทดลองหลากหลายที่นำ AI มาใช้สอนเด็ก และชี้ว่าช่วยได้ดีโดยเฉพาะในด้านการเรียนรู้แบบรายบุคคล
ยกตัวอย่างงานวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง Artificial Intelligence in Education ของ IEEE ที่ทำการทดสอบใช้งาน AI ร่วมกับการสอนเพื่อประเมินว่าได้ผลอย่างไร พบว่าผู้สอนสามารถทำหน้าที่บริหารต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น เช่น ตรวจทาน และให้คะแนนงานที่มอบหมายของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น หรือบรรลุคุณภาพที่สูงขึ้นในกิจกรรมการสอน เนื่องจาก AI มีความสามารถในเรียนรู้เพื่อปรับแต่งหลักสูตร และเนื้อหาโดยอัตโนมัติให้สอดคล้องกับผู้เรียน และไต่ระดับยากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเข้าใจ และทักษะของผู้เรียนทันทีทำให้ประสิทธิภาพการสอนร่วมกับครูเป็นไปได้ดี เป็นเรื่องที่สามารถอุดรอยได้อย่างพอดีเพราะมันเป็นไปได้ยากกับการใช้มนุษย์เข้ามาจับตามองนักเรียนทุกคน และปรับแต่งเนื้อหาการสอนให้ในทันทีได้แบบปัญญาประดิษฐ์
AI จึงแสดงประสิทธิภาพในด้านการเรียนรู้แบบรายบุคคลได้โดดเด่นกว่า
ปรับคุณภาพการสอนให้เข้ากับนักเรียนได้ทันที โดยไม่ทำให้เบื่อ หรือเรียนไม่ทันเหมือนการเรียนรวม
อีกเรื่อง คือด้านของการสร้างแบบประเมิน เนื่องจากหลักสูตร และรูปแบบเนื้อหาการเรียนไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนตลอด ทำให้การสร้างแบบทดสอบยังคงมาจากเนื้อหาเดิมเพียงแต่พลิกโจทย์ไปให้หลายมิติมากขึ้น แถมการสอบในโรงเรียนปัจจุบันยังเป็นการใช้ข้อสอบชุดเดียวทั้งชั้นในแต่ละวิชา อาจไม่สามารถวัดผล และแนะนำนักเรียนแต่ละคนได้อย่างตรงจุด การใช้ AI จึงเข้ามาช่วยลดภาระการสร้างโจทย์ของครูไปได้ ปรับให้ยืดหยุ่นแต่ระบุจุดที่ต้องปรับปรุงของเด็กแต่ละคนได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Duolingo ที่ใช้ AI and Machine learning เข้ามาช่วยในการสร้างแบบทดสอบ และให้คะแนนความสามารถทางภาษาอังกฤษสำหรับมหาวิทยาลัย บริษัท และหน่วยงานรัฐบาล โดย AI ปรับแต่งโจทย์ไปเรื่อย ๆ จะเลือกคำถามที่ยาก หรือง่ายขึ้นเพื่อระบุความสามารถหรือจุดอ่อนที่แท้จริงของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อ AI เป็นสิ่งขับเคลื่อนแนวทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาชีพทางด้าน STEM จึงนำไปสู่ความต้องการของตลาดแรงงาน สาเหตุของการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอาจเกิดมาจากการขาดความรู้ทางด้านดิจิทัล และคาดการณ์ว่างานสุดท้ายที่มนุษย์จะทำได้หลังโลกพัฒนาไปไกลแล้วจะต้องใช้ทักษะดิจิทัลระดับสูง การศึกษาทั่วโลกต้องปรับตัว และสร้างความรู้ทางด้านดิจิทัลให้กับนักเรียนมากขึ้น Education 4.0 จึงเป็นแนวทางที่ถูกจับตามองว่าสามารถนำมาพัฒนาการศึกษาในยุคนี้ได้ตามหลักคิดของ UN
คุณคิดว่าภาคธุรกิจ นักการศึกษา รัฐบาล และผู้ปกครองสามารถมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรได้บ้าง?
จากรายงานของ World Economic Forum เรื่อง Defining Education 4.0: A Taxonomy for the Future of Learning ได้พูดถึงประเด็นที่ผู้นำทางธุรกิจ รัฐบาล นักการศึกษา และผู้ปกครองจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างนวัตกรรม และขยายโอกาสให้เด็ก ๆ ได้บ่มเพาะความสามารถ ทักษะ ค่านิยม และทัศนคติ ตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อสามารถรับมือกับการถูกแทนที่ในอนาคต
ภาคธุรกิจ : สามารถแสวงหาโอกาสในการร่วมมือกับโรงเรียน และชุมชนการศึกษาเพื่อถ่ายทอดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการใช้ทักษะ และความสำเร็จในที่ทำงานจริง
ภาครัฐบาล : เน้นปรับหลักสูตรให้เข้ากับอนาคตของการทำงานโดยการปรับปรุงโปรแกรมการฝึกอบรมครู ปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตรแห่งชาติให้สอดคล้องกับทักษะ Education 4.0 และสื่อสารให้ครู และผู้ปกครองทราบเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในทักษะใหม่ ๆ นอกจากนี้หากลงทุนในเทคโนโลยีมากขึ้นจะสามารถสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านนี้ได้ดีทั้งในทางเศรษฐกิจ และการศึกษา
ภาคนักการศึกษา : บ่มเพาะทักษะ Education 4.0 นำไปสู่การปรับแนวปฏิบัติ การสอน และการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความคาดหวังในที่ทำงานในอนาคต และปรับกลไกการประเมิน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สังเกตทักษะ และลงมือทำในสถานที่ทำงานจริงมากขึ้น
ผู้ปกครอง : ทำความเข้าใจทักษะ Education 4.0 และรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อส่งเสริมเด็ก ๆ ในครอบครัวตั้งแต่ยังน้อย
Artificial Intelligence (AI) เป็นดาบสองคมของคนที่ไม่ได้พัฒนาทักษะของตนเองให้ดี ในอนาคตคุณครูที่ใช้สอนเด็ก ๆ อาจจะกลายเป็นหุ่นยนต์ ถูกแทนที่ด้วย AI มากกว่ามนุษย์จริง ๆ แต่ไม่ใช่แค่อาชีพครูหรอกที่จะถูกแทนที่ ไม่ว่าอาชีพอะไรก็มีสิทธิที่จะถูกแทนที่ได้ในอนาคตเหมือนอย่างที่สาวโรงงานถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรในครั้งอดีต
คุณคิดว่านโยบายด้านการศึกษาควรจะมี หรือสอนอะไรเพิ่มเติมกว่าที่กล่าวมาในบทความ เพื่อให้นักเรียนสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ถูกแทนที่ไปซะก่อนในอนาคต ร่วมแลกเปลี่ยน และหาคำตอบกับบทความนี้ครับ
ข้อมูลอ้างอิง
-
https://www.weforum.org/agenda/2023/04/how-to-leverage-skills-in-post-knowledge-ai-economy/
-
https://www.weforum.org/agenda/2023/04/can-ai-improve-education-here-are-4-potential-use-cases/
-
https://www.weforum.org/agenda/2015/09/does-technology-in-schools-improve-education
-
https://www.weforum.org/whitepapers/defining-education-4-0-a-taxonomy-for-the-future-of-learning/
-
https://www.weforum.org/agenda/2015/09/does-technology-in-schools-improve-education
บทความที่เกี่ยวข้อง