สรุปชัด ๆ “ซีเซียม 137” อันตรายแค่ไหน??
สรุปชัด ๆ “ซีเซียม 137” อันตรายแค่ไหน??
ซีเซียม 137 คืออะไร?
ซีเซียม (Caesium) คือ ธาตุธรรมชาติ เป็นโลหะหมู่ 1 (IA,IA) โลหะแอลคาไล ซึ่งโลหะแอลคาไล ประกอบไปด้วย ลิเทียม โซเดียม โพแทสเซียม รูบิเดียม ซีเซียม และแฟรนเซียม ดังนั้นซีเซียมจึงไวต่อการเกิดปฏิกิริยาสูงมาก และมีจุดหลอมเหลวค่อนข้างต่ำ ด้วยอุณหภูมิห้องของประเทศไทย ธาตุซีเซียมจึงมีสถานะเป็นของเหลว ตัวเลข 137 หลังซีเซียม คือ เลขหลังธาตุที่เรียกว่า “เลขมวล” เป็นจำนวนผลรวมของโปรตอน และนิวตรอน ซึ่งซีเซียมมีจำนวนโปรตอนทั้งหมด 55 และนิวตรอน 82 รวมกันเป็น 137 จึงเรียกว่า ซีเซียม 137 (Caesium-137) โดยแต่ละเลขทำให้คุณสมบัติ และคุณลักษณะต่างกันออกไป
ซีเซียม 137 เป็นไอโซโทปรังสี (ธาตุที่ปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาได้เรียกว่า ไอโซโทปรังสี)
นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความชื้น เครื่องวัดความหนาแน่น เครื่องวัดระดับการไหลของเหลวในท่อ เครื่องวัดความหนา และเครื่องตรวจสอบชั้นบาดาล และใช้ทางการแพทย์ โดยเป็นต้นกำเนิดของรังสีแกมมาเพื่อฉายแสงรักษามะเร็ง
ซีเซียม 137 ค้นพบครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1945 จากระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกที่ถูกทดลองในทะเลทรายอะลาโมกอร์โด มลรัฐเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ของโครงการลับที่ชื่อว่า “Manhattan Project” หลังจากนั้นมีการเข้าไปเก็บข้อมูลสารที่ฟุ้งกระจาย ทำให้เกิดการค้นพบซีเซียม 137 และสารกัมมันตรังสีอื่น ๆ ซีเซียม 137 ผลจากการค้นพบของระเบิดนิวเคลียร์ เป็นสารกัมมันตรังสีที่เกิดได้เฉพาะปฏิกิริยานิวเคลียร์เท่านั้น เป็นโลหะอ่อนสีเงิน ตีเป็นรูปได้ง่าย เป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส ทำให้ซีเซียม 137 นั้นเป็นกัมมันตรังสีที่มีค่าครึ่งชีวิตราว 30 ปี
*ครึ่งชีวิต คือ ระยะเวลาที่นิวเคลียสของธาตุกัมมันตรังสี (นิวเคลียส คือ ส่วนที่อยู่ใจกลางของอะตอมในธาตุ) สลายตัวจนเหลือครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิม
อันตรายจากรังสีของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137
ซีเซียม 137 แผ่รังสีบีตา และรังสีแกมมาออกมาหากเป็นเพียงระยะสั้น ๆ อาจไม่ส่งผลอันตรายในทันที แต่ก็มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นได้ โดยผลกระทบขึ้นอยู่กับ 4 ประการ คือ
1. ระยะเวลาที่ได้รับปริมาณรังสี
2. ระยะทางจากจุดกำเนิดรังสี
3. ความแรงของต้นกำเนิด
4. ระหว่างเรากับต้นกำเนิดรังสีมีอะไรที่ขวางกั้นอยู่หรือไม่
ปกติธาตุซีเซียมจะทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับคลอรีน ทำให้อยู่ในรูปของเกลือคลอไรด์ มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว คล้ายกับเกลือแกง แต่เกลือของซีเซียมนั้นสามารถละลายน้ำได้ดีมากจึงทำให้การควบคุมความปลอดภัยเป็นไปได้ยาก เพราะซีเซียม 137 สามารถกระจายไปในอากาศ น้ำ ดิน ได้ง่ายรวมถึงพืชผลทางเกษตรที่ใช้ดินปนเปื้อนก็จะสะสมซีเซียม 137 ไว้อีกด้วย
ซีเซียม 137 สามารถสลายตัวโดยให้รังสีบีต้า และธาตุแบเรียม โดยส่วนใหญ่แบเรียมที่ได้จะมีพลังงานสูงมากจึงปล่อยรังสีแกมมา แล้วกลายเป็นธาตุแบเรียมที่เสถียร จึงจัดเก็บด้วยภาชนะที่ทำจากตะกั่ว
อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเราได้รับซีเซียม 137
เมื่อเราเกิดการสัมผัสซีเซียม 137 โดยตรงในปริมาณมาก เป็นระยะเวลานานจะทำให้ผิวหนังของเราจะเกิดการอักเสบ แดง ไหม้พุพอง พร้อมกับมีอาการข้างเคียงคือ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องเสีย ผมร่วง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
แต่หากเป็นฝุ่นของกัมมันตรังสีเราจะไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่าเรากำลังโดน เนื่องจากเราไม่สามารถรู้สึกได้ว่ารับรังสี รับรส หรือแม้กระทั่งกลิ่นของซีเซียม 137 เพราะสิ่งเดียวที่รู้ได้ คือ เครื่องตรวจจับรังสีเท่านั้น
เมื่อรับประทาน หรือสูดดมซีเซียม 137 เข้าไปในร่างกาย มันจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และถูกสะสมอยู่ที่เนื้อเยื่ออ่อน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ และกระดูก ทำให้ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัสซีเซียม 137
-
สิ่งที่เราควรรีบปฏิบัติเมื่อพบว่าได้สัมผัสกับซีเซียม 137 คือ รีบลดการปนเปื้อนโดย
-
1. ล้างตาด้วยน้ำสะอาดให้น้ำไหลผ่านจากหัวตา ไปหางตา ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีที่สามารถทำได้ และเก็บเสื้อผ้าที่ใช้แล้วใส่ถุงให้มิดชิดเพื่อนำไปตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีหรือไม่
-
2. ไปลงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัส หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพ และควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี
-
3. ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ รับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และห้ามสัมผัสกับบริเวณพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้เป็นพื้นที่อันตราย
-
บทความที่เกี่ยวข้อง