สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา ep.24 นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567

 

 

บทความ10 เทรนด์การศึกษาปี 2024

 

 

 


                 

 

 

 

สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา

   นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567

 

                      วันนี้เรามาเปิดนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567 ที่มีจุดมุ่งหมาย คือ “ให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คำนึงถึงชาติ ศาสนา ศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม กีฬา ความปลอดภัย ความมีโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษามีสมรรถะที่สำคัญจำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่” โดยเน้นทั้งหมด 7 ข้อ ว่าการศึกษาไทยในปีหน้าจะเดินหน้าไปอย่างไร และเป็นเรื่องไหนกันบ้างครับ

 

 

1. การจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย

               สถานศึกษาถือเป็นหนึ่งในสถานที่สาธารณะที่เกิดเหตุก่อการร้ายมากติดอันดับโลก ตัวอย่างในไทย เช่น เหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ในปี 2022 ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 34 คน แต่ที่น่าเศร้าคือมีหลายเหตุการณ์ที่ผู้ก่อเหตุคือตัวนักเรียนเอง อย่างเหตุการณ์ล่าสุดวันที่ 21 ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมากับเหตุกราดยิงในอาคารคณะปรัชญาของมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ในกรุงปราก มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 คนและได้รับบาดเจ็บนับ 10 คน ตัวผู้ก่อเหตุเป็นนักศึกษาของคณะศิลปะในมหาวิทยาลัยดังกล่าว หรือเหตุการณ์ก่อนหน้าในเมืองเดียวกันมีนักเรียนอายุ 16 ใช้มีดแทงบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่ความปลอดภัยในสถานศึกษาควรเป็นสิ่งที่ต้องมีมากพอ ๆ กับมาตรฐานการเรียน การสร้างความปลอดภัยจึงสำคัญ มาตรการที่กระทรวงศึกษาธิการออกมาเพื่อจัดการกับความปลอดภัยในสถานศึกษามีดังนี้

         

  •  สร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของสังคมและป้องกันภัยคุกคามในชีวิตทุกรูปแบบ โดยมีการดำเนินการตามแผนและมาตรการด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน ครู และบุคลากร ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเข้มข้น
  • ปลูกฝังทัศนคติ พฤติกรรม และองค์ความรู้ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์
  • ส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • พัฒนาบทบาทและภารกิจด้านความปลอดภัยของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

 

2. การยกระดับคุณภาพการศึกษา

               กระทรวงศึกษาธิการได้มุ่งไปที่การส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการเรียนรู้สู่สมรรถนะตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)

 

  • พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพสถานศึกษาที่เน้นสมรรถนะและผลลัพธ์ที่ตัวผู้เรียน
  • พัฒนากระบวนการเรียนรู้และการวัดผล ประเมินผลฐานสมรรถนะ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นแห่งอนาคต
  • พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรมให้มีความทันสมัย น่าสนใจ เหมาะสมกับวัยและบริบทของพื้นที่
  • ส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้นำผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติไปใช้ในการวางแผน การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา
  • ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ กิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะ และสมรรถนะด้าน Soft Power ให้กับผู้เรียน ไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างสมรรถนะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่

นอกจากยกระดับคุณภาพการศึกษาจากพื้นฐานหลักสูตรแล้วยังมีเรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องที่ทั่วโลกนำมาปรับใช้กับการศึกษาและพัฒนาเด็ก โดยมีทักษะมากถึง 12 ด้าน ซึ่งปีนี้กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นไปที่ 3 เรื่อง ดังนี้

  • จัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพหุปัญญาให้กับผู้เรียน โดยเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในรูปแบบ Active Learning, STEM Education, Coding ฯลฯ และกระบวนการส่งต่อในระดับที่สูงขึ้น
  • ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)
  • ส่งเสริมการให้ความรู้และทักษะด้านการเงินและการออม (Financial Literacy) ให้กับผู้เรียน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

       

 

 

3. การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย

               ความเหลื่อมล้ำไม่เคยหายไปไหน โลกไม่เคยจะมีประวัติศาสตร์ที่เท่าเทียม แต่ปัจจุบันในด้านของการศึกษามีการพัฒนาดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความร่วมมือกัน อย่างการศึกษาในไทยจากสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีแค่ผู้ชายเท่านั้นที่ได้เรียนในอดีตมาจนถึงระบบการศึกษาที่เท่าเทียมมากขึ้นอย่างในปัจจุบัน ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่กระทรวงศึกษาธิการมีมาตรการเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยจัดให้พัฒนาด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการติดตามและส่งต่อไปยังสถานศึกษาในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาเด็กตกหล่นและออกกลางคัน
  • ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปทุกคน เข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อรับการพัฒนาอย่างรอบด้าน มีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัย ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบและเป็นไปตามมาตรฐาน โดยบูรณาการร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • พัฒนาข้อมูลและทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้เรียนกลุ่มเป้าหมายพิเศษและกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปีที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม (Not in Education, Employment or Training : NEETs)
  • ระบบสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว (Home School) และการเรียนรู้ที่บ้านเป็นหลัก (Home–based Learning) รวมทั้งการศึกษาทางเลือกอื่น ๆ พัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ในหน่วยงานที่จัดการศึกษาและให้มีหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตในภาพรวม และการเชื่อมโยงทั้งระหว่างรูปแบบ ประเภท และระดับการศึกษา

         

             

 

4. การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

               อย่างที่รู้กันว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 กำลังขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานของเครื่องจักรมากกว่าคน เป็นดาบสองคมที่มนุษย์เราต้องปรับตัว การศึกษาจึงต้องยกระดับศักยภาพของมนุษย์ขึ้นเพื่อส่งเสริมการถูกแย่งงานของมนุษย์ โดยเน้นไปที่การฝึกพัฒนาทักษะอาชีพ ดังนี้

  • พัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาและหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น แบบโมดูล (Modular System) มีการบูรณาการวิชาสามัญและวิชาชีพในชุดวิชาชีพเดียวกัน เชื่อมโยงการจัดการอาชีวศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและระบบทวิภาคี รวมทั้งการจัดการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง (Block Course) เพื่อสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank)
  • ร่วมมือกับสถานประกอบการในการจัดการอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้นเพื่อการมีงานทำ
  • ขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และยกระดับสมรรถนะกำลังคนตามกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และมาตรฐานสากล รวมทั้งขับเคลื่อนความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถานประกอบการในการผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
  • พัฒนาสมรรถนะอาชีพที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ โดยการ Re-skill Up-skill และ New skill เพื่อให้ทุกกลุ่มเป้าหมายมีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
  • สร้างช่องทางอาชีพในรูปแบบหลากหลายให้ครอบคลุมผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งผู้สูงอายุ โดยมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ส่งเสริมการพัฒนาระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) ตามสมรรถนะที่จำเป็นในการเข้าสู่อาชีพ และการนำผลการทดสอบไปใช้คัดเลือกเข้าทำงาน ศึกษาต่อ ขอรับประกาศนียบัตรมาตรฐานสมรรถนะการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) การขอรับวุฒิบัตรสมรรถนะภาษาอังกฤษ (English Competency)
  • จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาการจัดตั้งธุรกิจ (Start Up) ภายใต้ศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ
  • พัฒนาศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา เพื่อการส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการด้านอาชีพทั้งผู้เรียนอาชีวศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยเชื่อมโยงกับ กศน. และสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่
  • เพิ่มบทบาทการอาชีวศึกษาในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและกำลังแรงงานในภาคเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) และกลุ่มยุวเกษตรกรอัจฉริยะ (Young Smart Farmer) ที่สามารถรองรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้
  • พัฒนาหลักสูตรอาชีพสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้อยู่นอกระบบโรงเรียนและประชาชนที่สอดคล้องมาตรฐานอาชีพเพื่อการเข้าสู่การรับรองสมรรถนะ และได้รับคุณวุฒิวิชาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

 

5. การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากร

               การศึกษาจะไม่สมบูรณ์หากขาดเหล่าครูและบุคลากรทางการศึกษาต่าง ๆ ไป โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนครู ยกตัวอย่างของปีการศึกษา 2022 ไทยมีข้าราชการครูที่สังกัด สพฐ. ทั้งหมด 343,027 คน มีนักเรียนที่เรียนโรงเรียนรัฐสังกัด สพฐ. ทั้งหมด 6,557,074 คน หากเทียบจำนวนครูที่ดูแลนักเรียน 100 คน พบว่ามีครู 5.2 คนต่อนักเรียน 100 คน มากกว่าเกณฑ์ที่ UNESCO เสนอให้มีครูอย่างน้อย 4 คน สำหรับการดูแลนักเรียนทุก 100 คน แต่หากพิจารณาความต้องการครูตามที่โรงเรียนรายงาน จะพบว่าโรงเรียนสังกัด สพฐ. ของไทยต้องการครูรวม 390,954 คน ขาดแคลนอยู่ 47,927 คน และหากนับเฉพาะโรงเรียนที่กำลังขาดแคลนครูในปัจจุบัน (ไม่นับโรงเรียนที่ครูเพียงพอหรือเกินความต้องการ) พบว่าจำนวนครูที่ขาดแคลนจริงเท่ากับ 56,820 คน กล่าวได้ว่าภาพรวมของไทยมีครูพอต่อนักเรียนแต่โรงเรียนขนาดเล็กกลับขาดครูจำนวนมาก เพราะทุกคนที่จบครูก็ไม่ได้มาเป็นครูในโรงเรียน หรือบุคลากรให้กับรัฐทุกคน มาตรฐานของครูแต่ละคนแต่ละโรงเรียนก็ไม่เท่ากัน ยังมีเรื่องของโรงเรียนทางเลือกใหม่ ๆ ติวเตอร์ การศึกษาต่อต่างประเทศ และโรงเรียนนานาชาติจากต่างประเทศที่มาเปิดในไทยดึงตัวบุคลากรคุณภาพไปอีกด้วย กระทรวงศึกษาธิการจึงมีแนวทางในการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรในด้านต่าง ๆ เพื่อก้าวให้ทันโลก ดังนี้

  • ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการประเมินวิทยฐานะ โดยใช้ระบบการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (Digital Performance Appraisal : DPA)
  • ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการ พัฒนาสมรรถนะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลตามกรอบ ระดับสมรรถนะดิจิทัล (Digital Competency) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา
  • พัฒนาครูให้มีความพร้อมด้านวิชาการและทักษะการจัดการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ รวมทั้งให้เป็นผู้วางแผนเส้นทางการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตของผู้เรียนได้ตามความสนใจและความถนัดของแต่ละบุคคล
  • ส่งเสริมสนับสนุนการวัดสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผล เพื่อนำผลไปใช้ในการยกระดับการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผลในชั้นเรียน
  • พัฒนาขีดความสามารถของครู และบุคลากรให้มีสมรรถนะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต
  • ส่งเสริมสนับสนุนการทดสอบสมรรถนะครู และบุคลากรด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในการทำงาน
  • เร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทั้งระบบ ควบคู่กับการให้ความรู้ด้านการวางแผนและการสร้างวินัยด้านการเงินและการออม

 

6. การพัฒนาระบบราชการและการบริการภาครัฐยุคดิจิทัล

               โลกหมุนไปไม่มีวันหยุด ยุคดิจิทัลที่ใคร ๆ ก็พูดถึงหากไม่ปรับตัวก็จะถูกกลืนกินในสักวันหนึ่ง ระบบราชการและการบริการภาครัฐต้องปรับตัวให้เท่าทันโลกมากขึ้น เพราะรากฐานถือเป็นจุดสำคัญที่ควรจะก้าวหน้าที่สุดเพื่อชี้นำการศึกษาในยุคใหม่ ๆ นี้ได้ โดยปีนี้มีการพัฒนาไปที่ด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการ ด้วยนวัตกรรม และการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน (Digitalize Process) การเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูล (Sharing Data) การส่งเสริมความร่วมมือ บูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก
  • พัฒนาประสิทธิภาพของเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถใช้งานเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • พัฒนาระบบการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษา โดยยึดหลักความจำเป็นและใช้พื้นที่เป็นฐาน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
  • เสริมสร้างคุณธรรม มาตรฐานทางจริยธรรมและปลุกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล

 

7. การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติ

               ส่วนนี้จะเป็นเรื่องของการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใน เพื่อรองรับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ควบคู่กับการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง โดยจะพูดเรื่องของการ นำนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไปปฏิบัติตาม และให้คณะกรรมการติดตาม ประเมินผล และรายงาน เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล และดำเนินการแก้ไขปัญหาตามลำดับ ถือเป็นหน้าที่ของส่วนราชการหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำออกมาให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

 

จากทั้งหมด 7 ข้อของนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567 ทำให้เราเห็นทิศทางการศึกษาของไทยในภาพรวมว่าควรจะเน้นไปที่ตรงส่วนไหนบ้าง แล้วคุณคิดว่านอกจากที่กล่าวมาการศึกษาควรเพิ่มตรงส่วนไหนบ้าง ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนคำตอบไปกับพวกเราครับ

 

             

  

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

 

 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง