8 โรงเรียนนวัตกรรมโลก ตามหลัก Education 4.0
- โลกเรามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น โรงเรียนคือก้าวแรกในการพัฒนาเด็กให้เติบโตไปอนาคตแรงงานและพลเมืองที่ดี
- จากโครงการของ World Economic Forum for Shaping the Future of New Economy and Society ที่ได้ออกแบบหลักการปฏิวัติอุตสาหกรรมการศึกษา 4.0 ขึ้นมาและเฟ้นหาโรงเรียนที่เป็นมาตรฐานเพื่อส่งต่อโมเดลเหล่านี้กับโรงเรียนทั่วโลก
- แนะนำ 8 ตัวอย่างโรงเรียนนวัตกรรมจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย แคนาดา เวียดนาม สเปน อินเดีย เปรู สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร แต่ละโรงเรียนสะท้อนด้านต่าง ๆ ที่โดดเด่นไปตามหลัก Education 4.0 ทั้ง 8 ข้อทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ต่อยอดด้วยตนเองและพบเจอประสบการณ์จริง ที่ขาดไม่ได้เลยคือทักษะของการเป็นพลเมืองที่ดี ความคิดดี เคารพสิทธิและความต่างของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เด็กโตไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องไม่ขาดทัศนคติของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในโลกที่ตลาดแรงงานปรับตัว และต้องการทักษะใหม่ ๆ ปัญหาสงคราม การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้น การศึกษามีบทบาทสำคัญในการเตรียมพลเมืองที่ดีและกำลังแรงงานแห่งอนาคต โรงเรียนและคุณครูคือก้าวแรกของการเติบโตของเด็กทุกคนทั่วโลกก่อนเข้าไปสู่สังคมที่แท้จริง โมเดลการศึกษาจึงต้องปรับตัวตลอดเพื่อให้เด็กมีทักษะสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป ระบบการศึกษาต้องเตรียมพร้อมบทเรียนอะไรเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก ชวนส่อง 8 โรงเรียนนวัตกรรมโลกตามหลัก Education 4.0
จากโครงการของ World Economic Forum for Shaping the Future of New Economy and Society เกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบและอนาคตการศึกษา ได้ระบุแนวทาง ของ Education 4.0 ทั้งหมด 8 ทักษะ พร้อม 8 ตัวอย่างโรงเรียนนวัตกรรมโลกที่มีโปรแกรมการศึกษา และระบบโรงเรียนที่ปูทางไปสู่ Education 4.0
- Global citizenship skills : ทักษะการเป็นพลเมืองโลก เนื้อหาที่เน้นการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับโลกในวงกว้าง ความยั่งยืน และการมีบทบาทการอยู่ร่วมกันในชุมชน สังคมอย่างยั่งยืน
- Innovation and creativity skills : ทักษะด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับนวัตกรรม รวมถึงการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการวิเคราะห์ระบบ
- Technology skills : พัฒนาทักษะด้านดิจิทัล การเขียนโปรแกรม ความรับผิดชอบด้านดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยี
- Interpersonal skills : ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ เน้นความฉลาดทางอารมณ์ระหว่างบุคคล รวมถึงการเอาใจใส่ ความร่วมมือ การเจรจาต่อรอง ความเป็นผู้นำ และการรับรู้ทางสังคม
- Personalized and self-paced learning : การเรียนรู้ส่วนบุคคลและการเรียนรู้ด้วยตนเอง ย้ายจากระบบการเรียนรู้มาตรฐาน ไปสู่ระบบที่อิงตามความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนแต่ละคน และมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนก้าวหน้าตามจังหวะของตนเอง
- Accessible and inclusive learning : การเรียนรู้ที่เข้าถึงได้และครอบคลุม ไม่จำกัดกรอบการเรียนรู้ที่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะกับผู้ที่สามารถเข้าถึงอาคารเรียนไปยังระบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้แบบไร้พรมแดน
- Problem-based and collaborative learning : เรียนรู้จากปัญหาและการทำงานร่วมกัน เปลี่ยนจากการเรียนแค่กระบวนการ เป็นโปรเจ็กต์และเนื้อหาที่อิงตามปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และผสานการร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน และสะท้อนถึงอนาคตของการทำงานจริง
- Lifelong and student-driven learning : การเรียนรู้ตลอดชีวิตและขับเคลื่อนโดยนักเรียน เปลี่ยนจากระบบที่การเรียนรู้และทักษะลดลงตามอายุขัยของคนๆ หนึ่ง ไปสู่ระบบที่ทุกคนพัฒนาทักษะที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและได้รับทักษะใหม่ ๆ ตามความต้องการของแต่ละคน
เริ่มต้นที่แรก อินโดนีเซีย กับ Green School โรงเรียนต้นแบบของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนที่ส่งเสริมเด็ก ๆ ให้เป็นผู้นำสีเขียว มุ่งมั่นที่จะนำการศึกษามาส่งเสริมความยั่งยืนและกำหนดทิศทางของผู้นำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต เริ่มต้นที่สภาพแวดล้อมในโรงเรียน การเรียนรู้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ห้องเรียนที่ไม่มีผนังและโครงสร้างที่สร้างจากไม้ไผ่ทั้งหมด รถรับ-ส่งนักเรียนไปและกลับจากโรงเรียน คือ BioBus เป็นยานพาหนะที่ใช้น้ำมันประกอบอาหาร ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้กว่าสี่ตันต่อปี ออกแบบโดยนักเรียน Green School โรงเรียนมีแนวคิดของการสอนให้เด็กเข้าใจธรรมชาติ เพื่อเข้าถึงวิธีที่จะช่วยโลกของเราได้อย่างยั่งยืน ผสานกับการสอนที่สอดแทรกเหตุการณ์จริงเข้ากับบทเรียนและได้ลงมือทำจริง เช่น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนได้สร้างสายเคเบิลและสะพานไม้ไผ่ที่ใช้งานได้จริงข้ามแม่น้ำอายุงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนคณิตศาสตร์ โครงการนี้นำโดยนักเรียนทั้งหมด รวมถึงการออกแบบ การประมาณราคา และขั้นตอนการก่อสร้าง หรือในระดับมัธยมปลาย นักเรียน Green School ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Cologne เพื่อออกแบบและสร้างระบบพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำแบบใหม่ที่ยั่งยืน ใช้งานได้จริงในโรงเรียน
Green School เกิดขึ้นครั้งแรกที่บาหลี และขยายแนวทางการศึกษาของพวกเขาให้กับโรงเรียนและครูต่าง ๆ ทั่วโลกสำหรับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหลักการสอนและการออกแบบหลักสูตรที่เน้นธรรมชาติ จนถึงปัจจุบันมีครูเกือบ 700 คนจากกว่า 50 ประเทศได้เข้าร่วมในโครงการอบรมและนำโมเดล Green School นี้ไปปรับใช้
ภาพจาก https://tks.world/
ต่อมากับ แคนาดา โครงการพิเศษสำหรับเสริมทักษะการเรียนรู้ให้แก่เด็ก อายุ 13-18 ปี Knowledge Society (TKS) ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 ในเมืองโตรอนโตเป็นโครงการนอกหลักสูตร 3 ปี ได้รับการพัฒนาร่วมกับซีอีโอและผู้นำระดับโลก โดยจำลองตามหลักสูตรจาก Stanford, Harvard และ MIT ออกแบบมาเพื่อจำลองสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และวัฒนธรรมของ Silicon Valley มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีการสร้างและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ สะท้อนสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และการทำงานของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับนวัตกรรมที่ล้ำสมัยที่สุด เช่น บล็อกเชน หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจวิธีการใช้เครื่องมือเหล่านี้ขับเคลื่อนโลกในเชิงบวก โดยในแต่ละปีแบ่งเป็นการเรียนรู้คือ
- ปีแรก เน้นที่การสร้างทักษะพื้นฐานทางเทคนิคและการสื่อสาร นักเรียนจะได้เรียนรู้และสำรวจเทคโนโลยีต่างๆ กว่า 40 รายการ จากนั้นเลือกเทคโนโลยีที่ดึงดูดใจพวกเขามากที่สุด
- ปีที่สอง มุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีที่พวกเขาเลือกและขยายทักษะทางเทคนิคเฉพาะตัว
- ปีสุดท้าย นักศึกษาจะได้ประสบการณ์จริงจากบริษัทระดับโลก ต่างๆ เช่น Walmart, Airbnb ,Zappos , Microsoft และ TD Bank และได้รับคำปรึกษาในกรอบของ McKinsey & Company เพื่อทำงานผ่านความท้าทายเหล่านั้น และเรียนรู้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนวัตกรรมของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร และก่อตั้งบริษัทที่มีนวัตกรรมของตนเองขึ้นมา มีนักเรียนหลายคนที่ประสบความสำเร็จและบริษัทจำลองเหล่านี้กลายเป็นบริษัทที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน และนักเรียนเกือบทั้งหมดถูกจ้างโดยบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าฝึก
ปัจจุบัน Knowledge Society (TKS) ได้ขยายโปรแกรมไปยังนิวยอร์ก ลาสเวกัส ออตตาวา และบอสตัน มีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการแหล่งข้อมูลและเนื้อหาต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ อีกทั้งยังสามารถให้นักเรียนติดต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นกันผ่านแพลตฟอร์มได้
ภาพจาก https://teky.edu.vn/
เวียดนาม กับ TEKY STEAM เป็นสถาบัน STEAM แห่งแรกในเวียดนาม สำหรับเด็กอายุ 6-18 ปี มุ่งเน้นการสอนทักษะด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะทั้งการเขียนโปรแกรม วิทยาการหุ่นยนต์ การออกแบบเว็บไซต์ การสื่อสารมัลติมีเดียและแอนิเมชัน นักเรียน 80% ใช้เวลาเรียนรู้เทคโนโลยีเป็นหลัก ได้เรียนรู้พื้นฐานหลากหลายก่อนเลือกสิ่งที่ชอบจริง ๆ เพื่อศึกษาต่อให้ลึกซึ้งมากขึ้น TEKY ได้จัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนาที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านเทคโนโลยีการสอนและการศึกษา รับผิดชอบในการออกแบบหลักสูตรและปรับปรุงคุณภาพของโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีการศึกษาหลายราย เช่น Sigong Media, MIT for Scratch, Tynker, LEGO Education, RoboRobo ,Maker Empire และอื่นๆ เพื่อพัฒนาปรับโปรแกรมการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน ในทักษะด้านเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับอนาคต นักเรียนของสถาบันได้รับรางวัลการันตีจากการเข้าร่วมแข่งขัน STEM ระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอเพื่อแสดงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ในปี 2560 นักเรียนของ TEKY ได้รับรางวัล WeCode International Children's Program ห้าเหรียญ และในปี 2019 ได้รับรางวัลเหรียญเงินจาก World Robot Olympiad ซึ่งเป็นงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก สำหรับวัยรุ่นอายุ 9-21 ปี ที่แข่งขันกันกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ในปัจจุบันสถาบันมีห้องปฏิบัติการ 16 แห่งใน 5 เมืองทั่วประเทศและร่วมมือกับโรงเรียน 30 แห่งทั่วประเทศเพื่อจัดหลักสูตรเทคโนโลยี สร้างค่ายเขียนโค้ด เพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีในช่วงวันหยุด และกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิงเพื่อนำเสนอโปรแกรมของตนให้กับนักเรียนในจังหวัดที่ห่างไกลมากขึ้นในภูมิภาค
ภาพจาก https://iearn.org/
สเปน กับ iEARN เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2531 เป็นพันธมิตรกับโรงเรียนและองค์กรเยาวชนกว่า 30,000 แห่งในกว่า 140 ประเทศ iEARN มุ้งเน้นที่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทุกโครงการจะให้นักเรียนคิด และตอบคำถามที่ว่า “โครงการนี้จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตบนโลกใบนี้ได้อย่างไร” และต้องระบุว่าโครงการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างไร ตัวอย่างเช่น โครงการ Future Citizen เน้นการสำรวจสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง นักศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกฎหมายท้องถิ่น กระบวนการเลือกตั้ง และระบบราชการในประเทศของตนเอง ทำโครงการบริการในท้องถิ่นในชุมชนของตน แลกเปลี่ยนสิ่งที่ค้นพบกับนักเรียนในแวดวงโครงงานของพวกเขา และสร้างสารคดีขั้นสุดท้ายที่บรรยายลักษณะของความดีในการเป็นพลเมืองที่ดีของโลก โมเดล iEARN มีการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาวิชาชีพแบบตัวต่อตัวสำหรับครู มุ่งเน้นไปที่วิธีการผสานรวมโปรแกรม iEARN เข้ากับหลักสูตรการสอนให้ได้ดีที่สุด นอกจากนี้ ครูยังได้รับการฝึกอบรมเฉพาะเกี่ยวกับวิธีเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม และวิธีส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจและความตระหนักทางสังคมในหมู่นักเรียน สร้างชุมชนผู้เรียนระดับโลกที่มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมและทำงานร่วมกันในโครงการการเรียนรู้การบริการผ่านเครือข่ายออนไลน์เสมือนจริง และแลกเปลี่ยนโครงการและต่าง ๆ แบบไร้พรมแดน ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 2 ล้านคนเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือของ iEARN จากทั่วโลก
ภาพจาก https://www.pratham.org
อินเดีย กับ โปรแกรมการเรียนรู้แบบผสมผสานของ Pratham ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย อุทิศตนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอินเดียและเสริมการทำงานของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2015 Pratham ได้เปิดตัวโครงการริเริ่มด้านดิจิทัล นั่นคือ Hybrid Learning Programme เป็นแนวทางที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน เน้นไปที่การเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการเรียนรู้จากประสบการณ์รอบข้าง โดยจัด 1 หมู่บ้านต่อหนึ่งหน่วยการเรียนรู้ และเสริมเนื้อหาวิชาการที่เน้นให้เด็กริเริ่มที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านออนไลน์มากกว่า 70 รายการ บทเรียนภาษาอังกฤษ เกมออนไลน์ที่ใช้คณิตศาสตร์ และแนวคิดโครงงานที่ทำแบบออฟไลน์ โดยที่เด็กไม่ต้องกังวลเนื่องจากโปรแกรม Hybrid Learning ใช้เทคโนโลยีหลายอย่างเพื่อส่งมอบการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการแปลงคำพูดเป็นข้อความ ใช้เพื่อสนับสนุนแนวทางการอ่านของเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ การพัฒนาเกม แบบทดสอบ สื่อการอ่าน การประเมิน และแหล่งข้อมูลอื่นๆ เหล่านี้ได้ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ เพื่อช่วยแปลทรัพยากรเป็นภาษาประจำภูมิภาค 11 ภาษาในอินเดียเพื่อเข้าถึงทุกภาคส่วนและสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็กได้ และมีการจัดเตรียมแท็บเล็ตให้กับครอบครัวเพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานร่วมกับบุตรหลานในกิจกรรมที่บ้าน พร้อมแหล่งข้อมูลพร้อมใช้งานแบบออฟไลน์ ในปัจจุบันมีเด็กกว่า 90,000 คนที่มีอายุระหว่าง 10 ถึง 14 ปีในประมาณ 1,000 หมู่บ้านในอินเดียเข้าร่วมโครงการนี้
ภาพจาก https://prospectschools.org/
สหรัฐอเมริกา กับ Prospect Charter Schools โรงเรียนที่ออกแบบแนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและเท่าเทียม เนื่องจากผลสำรวจการศึกษาหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่าระบบโรงเรียนของรัฐในนิวยอร์กเป็นระบบที่แบ่งแยกทางเชื้อชาติและเศรษฐกิจมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ทำให้ Prospect Charter Schools ออกโมเดลมาเพื่อมุ่งเน้นจัดการกับความท้าทายนี้ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่หลากหลายและบูรณาการอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น การสุ่มเพื่อเข้าเรียนผ่านระบบลอตเตอรี่โดยไม่วัดจากการเรียนเพื่อคละกลุ่มคนให้หลากหลายมาไว้ในโรงเรียนเดียวกัน เช่น วิทยาเขตวินด์เซอร์ เทอเรซ ของนักเรียนมัธยมต้น 324 คน 41% เป็นคนผิวขาว 34% เป็นคนละติน 11% คนผิวดำ และ 6% เป็นคนเอเชีย นักเรียนครึ่งหนึ่งมาจากภูมิหลังที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และ 25% ได้รับบริการการศึกษาพิเศษ เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ความหลากหลายในสังคม โรงเรียนยังจ้างครูที่สะท้อนความหลากหลายของประชากรนักเรียน ครูมากกว่าครึ่งเป็นคนผิวสี ชั้นเรียนได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมและหลากหลาย เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ความคล่องแคล่วในภาษาอังกฤษ เพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศของนักเรียน เพื่อให้เด็กได้สัมพันธ์กับความหลากหลายได้มากที่สุด และลดอคติที่รุนแรงในสังคมในอนาคต นอกจากด้านสังคม ด้านวิชาการก็ยังได้รับการดูแลและสนับสนุนอย่างดี จากผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่า ในปี 2019 นักเรียนของโรงเรียน Prospect Charter School ทำได้ดีกว่าเพื่อนในโรงเรียนนครนิวยอร์กแห่งอื่นๆ และทั่วทั้งรัฐในการทดสอบมาตรฐานด้านคณิตศาสตร์และศิลปะภาษาอังกฤษ ในวิชาคณิตศาสตร์ 73% ของนักเรียนทำคะแนนความชำนาญในการสอบของรัฐ เทียบกับค่าเฉลี่ยของรัฐที่ 47%
เปรู กับ Innova Schools โรงเรียนที่ออกแบบมาเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาและเน้นการเรียนแบบผสมผสานอย่างลงตัว แต่ก่อนเปรูอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของโครงการ OECD สำหรับการประเมินนักศึกษาต่างชาติ (PISA) ในปี 2009 โดยมีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่วัดทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และมีช่องว่างทางการศึกษาที่สูงมาก เพื่อช่วยแก้ไขช่องว่างด้านการศึกษานี้ Intercorp Peru Ltd, IDEO บริษัทออกแบบและให้คำปรึกษาร่วมมือกับวิศวกร Jorge Yzusqui ในปี 2011 เพื่อออกแบบโรงเรียน Innova ให้เป็นทางเลือกการเรียนรู้คุณภาพสูงในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ โดย 70% ของโรงเรียนเป็นเด็กเล็กเพื่อปูพื้นฐานการเรียนรู้แบบผสมผสาน ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแบบอิสระ และการเรียนรู้กลุ่มย่อยตามโครงงานโดยครูผู้สอน ซึ่งนักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในโครงการนวัตกรรมของโรงเรียน ท้าทายให้นักเรียนออกแบบวิธีแก้ปัญหาเฉพาะตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายทางสังคม แต่ละข้อได้รับการออกแบบมาให้เป็นแบบปลายเปิด ทำให้นักเรียนสามารถมุ่งเน้นไปที่กระบวนการคิดและการออกแบบมากกว่าการหา "คำตอบ" นักเรียนร่วมมือกันเพื่อก้าวผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ของการคิดเชิงออกแบบ เช่น การสำรวจ การออกแบบ การทดลอง และการแบ่งปัน สะท้อนถึงกระบวนการทำงานร่วมกันที่พวกเขาอาจประสบในที่ทำงานแห่งอนาคตอย่างใกล้ชิด และผลจากการเรียนด้วยโมเดลนี้ในปี 2013 ผลสำรวจชี้ว่า 61% ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของ Innova สอบผ่านข้อสอบคณิตศาสตร์ของรัฐบาลกลางได้ เทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 17% และยังพบว่า 77% ของนักเรียนพัฒนาการอ่านดีกว่าเมื่อเทียบกับโรงเรียนเอกชนอื่น Innova เข้าถึงนักเรียนมากกว่า 42,000 คนในประเทศ และยังมีโครงการที่ร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับ Project Zero ที่ Harvard University เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมทักษะการสอบถามสำหรับครู และยังสร้างศูนย์ทรัพยากรสำหรับครูเพื่อให้ครูเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ด้วยบทเรียนที่ผ่านการรับรองคุณภาพแต่ละวิชาสำหรับแต่ละเกรดการออกแบบโดยใช้มาตรฐานร่วมกันและช่วยให้ครูสามารถแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการนำไปใช้สอนจริงในหลักสูตร อีกทั้งยังมีแผนกนวัตกรรมโดยเฉพาะรับผิดชอบในการออกแบบ สร้างต้นแบบ และนำแนวคิดใหม่ๆ ในสี่ด้านหลัก ได้แก่ นักวิชาการ พื้นที่ ระบบ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การรับรองว่าโมเดล Innova สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติล่าสุดในการศึกษา แต่ละโรงเรียนสามารถทำงานโดยตรงกับองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่น ผู้นำภาครัฐและเอกชนเพื่อนำแบบจำลอง Innova ไปใช้ในโรงเรียน ในปี 2020 เป้าหมายของ Innova เข้าถึงนักเรียนมากกว่า 50,000 คน กว่า 60 แห่งทั่วประเทศ
สหราชอาณาจักร กับ The Skills Builder Partnership โปรแกรมระดับโลกที่ส่งเสริมเด็กครบทุกทักษะ เน้นประสบการณ์จริง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นความร่วมมือระดับโลกที่ทำงานร่วมกับโรงเรียน ครู นายจ้าง และองค์กรอื่นๆ เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นในเด็กและเยาวชน เครือข่ายประกอบด้วยโรงเรียนและวิทยาลัย 514 แห่ง นักเรียนมากกว่า 200,000 คน และองค์กรมากกว่า 700 แห่ง The Skills Builder Partnership เน้นเสริมทักษะที่จำเป็นแปดประการในหมู่เด็กและเยาวชน รวมถึงการฟัง การนำเสนอ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น การทำงานร่วมกัน และความเป็นผู้นำ แต่ละทักษะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนและแบ่งออกเป็นขั้นตอนเพื่อปรับใช้กับหลักสูตรการสอน และสิ่งเหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาจากบริษัทระดับโลกต่าง ๆ ที่ต้องการปลูกฝังให้เด็กติดตัวไปจนถึงในตอนที่เข้าทำงานจริงในสังคม ในปีการศึกษา 2018–2019 นายจ้างมากกว่า 121 คนเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนสถานที่ทำงานของโครงการนี้ ตัวอย่างบริษัทที่เป็นพันธมิตร เช่น JLL, BP และ Bank of America และนักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรมสร้างทักษะมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นมากกว่านักเรียนที่ไม่เข้าร่วมถึง 62% และได้รับการจ้างงานจากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
การปฏิวัติอุตสาหกรรมหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้สังคมและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลง ทำให้เราต้องปรับตัว ปรับรูปแบบการเรียนรู้ตลอดเวลา แต่ก่อนยังไม่มีโควิด-19 สังคมเราเน้นการเรียนรู้ในห้องเรียนมากกว่า 80% ทั่วโลก จนเกิดโรคระบาด มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว การเรียนทางไกล เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนออนไลน์ และการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สังคมเปลี่ยนแปลงตลอด ทักษะการปรับตัวและการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงสำคัญ และการศึกษาและกระบวนการคิดเป็นตัวช่วยให้มนุษย์ประยุกต์ใช้ทักษะกับความรู้ได้ดีที่สุด ใครจะรู้ว่าการปฏิวัติครั้งสุดท้ายของโลกอาจเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดาวอังคาร แล้วคุณหล่ะ? คิดว่าโลกการศึกษาไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรหากนำข้อดีของโรงเรียนต้นแบบตามหลัก Education 4.0 มาใช้จริง มาลองวาดฝันกันครับ
อ้างอิง
- https://www3.weforum.org/docs/WEF_Schools_of_the_Future_Report_2019.pdf
- https://www.weforum.org/agenda/2020/02/schools-of-the-future-report-2020-education-changing-world/
- http://www.journalhri.com/pdf/1201_07.pdf
- https://tks.world/
- https://www.greenschool.org/bali
- https://teky.edu.vn/
- https://iearn.org/
- https://www.pratham.org/
- https://prospectschools.org/
- https://www.innovaschools.edu.co/en-us/schools
- https://www.skillsbuilder.org/
บทความที่เกี่ยวข้อง