สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา EP.18 สรุปประวัติศาสตร์แห่งทฤษฎีการเรียนรู้ Part 2/2

 

สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา EP.18

15 Most Influential Learning Theories

สรุปประวัติศาสตร์แห่งทฤษฎีการเรียนรู้ Part 2/2

 
 

 

 

หากพูดถึงการเรียนรู้ คงขาดคำว่าประสบการณ์ไปไม่ได้ เหมือนคำกล่าวที่ว่า

“คนเราจะมีอนาคตที่พัฒนาได้ เกิดจากการเรียนรู้เรื่องของอดีตเพื่อนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาอนาคต”

 

                ในบทความสรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.17 เราพาไปทำความรู้จักทฤษฎีการเรียนรู้ 3 หลัก คือ พฤติกรรมนิยม (Behaviourism) ความรู้ความเข้าใจ (Cognitivism) และคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism) ที่ครอบแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ 15 แบบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้อ่านกันไปแล้วใน Part 1/2 ทั้งหมด 7 ทฤษฎี วันนี้เราจะมาพูดถึงอีก 8 ทฤษฎีที่เหลือใน EP.18 Part 2/2 นี้กันครับ

 

1. ทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ของกาเย่ (Gagné’s Conditions of Learning)[1]

           โรเบิร์ต เอ็ม. กาเย่ (Robert Mills Gagné) เป็นนักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน ในปี 1965 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อ “The Conditions of Learning” ในนั้นกล่าวถึงทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ ภายใต้หลักคิดที่ว่าความรู้มีหลายประเภท บางประเภทสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องใช้ความคิดที่ลึกซึ้ง บางประเภทมีความซับซ้อนจําเป็นต้องใช้ความสามารถในขั้นสูง

เริ่มแรกเขาได้อ้างอิงแนวคิดของ บลูม (Taxonomy of Educational objectives)[2] คือ The Cognitive Domain (ด้านสติปัญญา) The Affective Domain (พฤติกรรมสติปัญญา) และ The Psychomotor Domain (พฤติกรรมด้านร่างกาย) เพื่อนำมาแบ่งสมรรถภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ออกเป็น 5 แบบ[3]

โดย 3 แบบแรกได้แก่ Verbal information Intellectual skills และ Cognitive strategies จะอ้างอิงจากแนวคิดด้านสติปัญญา (Cognitive Domain) ดังนี้

 

1. Verbal information : ภาษาหรือคำพูด

เป็นความสามารถในการเรียนรู้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยความจำ และความสามารถระลึกได้

2. Intellectual skills : ทักษะทางสติปัญญา

ใช้สมองคิด วิเคราะห์หาเหตุผลจากข้อมูล ประสบการณ์ และความรู้ที่มี ทักษะนี้จำเป็นต้องได้รับการฝึกในด้านของ การจำแนก (discrimination) การคิดรวบยอดเป็นรูปธรรม (concrete concept) จำกัดความของความคิดรวบยอด (defined concept) เข้าใจกฎ และใช้กฎ (rules) และการแก้ปัญหา (problem solving) เพื่อวิเคราะห์ และทำความเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนได้มากขึ้น

3. Cognitive strategies : กลยุทธ์ทางปัญญา

เป็นกระบวนการทำงานภายในสมองของมนุษย์ ที่ควบคุมการเรียนรู้ การเลือกรับรู้ การแปลความ การดึงความรู้ ความจำ ความเข้าใจ และประสบการณ์เดิมออกมาใช้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่ต้องเจอได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

4. Motor skills : ทักษะการเคลื่อนไหว

อ้างอิงจากแนวคิดด้านพฤติกรรมด้านร่างกาย (Psycho-Motor Domain)

5. Attitudes : ทัศนคติ

อ้างอิงจากแนวคิดด้านพฤติกรรมสติปัญญา (Affective Domain) เป็นความรู้สึกนึกคิดของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ และมีผลต่อการตัดสินใจในการที่จะเลือกกระทำ หรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

                 ของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ และมีผลต่อการตัดสินใจในการที่จะเลือกกระทำ หรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เขาสรุปได้ว่า มนุษย์มีการสะสมข้อมูลไว้พิจารณาเลือกที่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมก็มีอิทธิพลต่อการส่งเสริม และยับยั้งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในได้ ดังนั้นควรมีการจัดสภาพการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้แต่ละประเภท ตามลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ภายในสมองให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ภายในของผู้เรียน เพื่อสามารถเข้าใจได้ดี รวดเร็ว และจดจำได้นานและเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เขาได้จัดระบบการเรียนรู้ออกเป็น 9 ขั้น ดังนี้

 

1. เร่งเร้าความสนใจ (Gain Attention)

เป็นการกระตุ้น หรือเร้าให้สนใจในบทเรียน เช่นการจัดสภาพแวดล้อมให้ดึงดูดความสนใจ ใช้ภาพกราฟิก เสียง หรือภาพเคลื่อนไหวประกอบเข้ากับบทเรียน

2. บอกวัตถุประสงค์ (Specify Objective) บอกให้ทราบถึงจุดประสงค์ของแต่ละบทเรียนว่ามีความสําคัญอย่างไร ทําให้ผู้เรียนมุ่งความสนใจไปที่เนื้อหาบทเรียนที่เกี่ยวข้อง สามารถเลือกศึกษาเนื้อหาเฉพาะที่ยังขาดความเข้าใจ และบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนที่กำหนดไว้ได้

3. ทบทวนความรู้เดิม (Activate Prior Knowledge)

ช่วยกระตุ้นให้เรียนรู้เนื้อหาใหม่ที่ซับซ้อนกว่าเดิมได้รวดเร็วขึ้น เช่น กิจกรรมการถาม-ตอบคําถาม หรือการแบ่งกลุ่มอภิปราย หรือสรุปเนื้อหาที่ได้เคยเรียนมาแล้ว เป็นต้น

4. นําเสนอเนื้อหาใหม่ (Present New Information)

นำเสนอความรู้ด้วยสื่อที่หลากหลาย เช่นการนําเสนอผ่านข้อความ รูปภาพ เสียง หรือวิดีโอ โดยจัดเนื้อหา และสื่อการสอนให้เหมาะสมกับบทเรียนมากที่สุด

5. ชี้แนะแนวทางการเรียนรู้ (Guide Learning)

การชี้แนะให้สามารถนําความรู้ที่ได้เรียนใหม่ผสานกับความรู้เดิมที่เคยได้เรียนไปแล้ว เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็ว และมีความแม่นยํามากขึ้น

6. กระตุ้นการตอบสนองบทเรียน (Elicit Response)

เพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วม เช่น คิด หรือทำกิจกรรมร่วมกันผ่านกระบวนการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น

7. ให้ข้อมูลย้อนกลับ (Provide Feedback)

คือการแจ้งให้ผู้เรียนทราบว่ากำลังเรียนอยู่ส่วนไหนของบทเรียน และห่างจากเป้าหมายเท่าไหร่ เพื่อกระตุ้นความสนใจ และทราบระยะการเรียนรู้ของตนเองเพื่อจะกลับมาทบทวนความรู้เดิมได้

8. ทดสอบความรู้ใหม่ (Assess Performance)

ทำให้ผู้เรียน และผู้สอนทราบถึงระดับความรู้ความเข้าใจที่มีต่อเนื้อหาในบทเรียน เพื่อให้สามารถส่งเสริม และพัฒนาได้อย่างเหมาะสม

9. สรุปและนําไปใช้ (Review and Transfer)

เป็นการที่ผู้สอนสรุปเนื้อหาสำคัญ ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ให้ผู้เรียนได้ไปทบทวนความรู้ของตนเองหลังจากศึกษาจบ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาบทเรียนถัดไป หรือนำไปประยุกต์ใช้กับความรู้อื่น ๆ ได้

        

2. พัฒนาการทางจิตใจ 8 ขั้นตอนของอีริคสัน (Erikson’s 8 Stages of Psychosocial Development)[4]

                อีริก อีริคสัน (Erik Erikson) เป็นนักจิตวิทยาที่นำเสนอทฤษฎีการพัฒนาจิตสังคม (Theory of Psychosocial Development) ด้วยแนวคิดที่ว่าวิกฤตทางจิตสังคมอาจส่งผลลัพธ์ในทางบวก หรือลบต่อการพัฒนาบุคลิกภาพได้และทำการศึกษาพัฒนาการแต่ละช่วงชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ จำแนกออกมาได้ เป็น 8 ระยะ

Erikson’s 8 Stages of Psychosocial Development

 

โดยแต่ละขั้นจะเกิดลักษณะพึ่งมี (Virtue) เป็นจุดแข็งที่บ่งชี้ถึงบุคลิกภาพ และตัวตนที่ดี

1. Trust Vs. Mistrust : ความน่าเชื่อถือ ต่อ ความไม่ไว้วางใจ (อายุ 0 – 1.5 ปี)

เป็นช่วงวัยที่เริ่มรับรู้การกระทำของผู้อื่น หากรู้สึกปลอดภัยจะแสดงออกถึงความไว้วางใจต่อผู้คน ส่งผลให้เกิดลักษณะพึ่งมี (Virtue) คือ ความหวัง มีความคิดว่าหากเกิดอันตรายจะมีความช่วยเหลือมาถึงตน แต่หากได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี เด็กอาจโตขึ้นด้วยความรู้สึกไม่ไว้วางใจผู้อื่น เกิดความกลัว และมองโลกในแง่ร้ายแทน

2. Autonomy Vs. Shame : อิสรภาพ ต่อ ความอับอาย (อายุ 1.5 – 3 ขวบ)

เป็นช่วงที่เด็กเริ่มควบคุมตนเอง และเลือกสิ่งต่าง ๆ ตามความชอบของตน เด็กที่เป็นอิสระในตนเองสูงจะส่งเสริมลักษณะพึ่งมีของเขาคือ ความมั่นใจ แต่หากเด็กที่ถูกห้าม และควบคุมมากเกินไป จะเกิดความนับถือในตนเองต่ำ เกิดความอับอาย และไม่มั่นใจในตนเอง

3. Initiative Vs. Guilt : ความคิดริเริ่ม ต่อ ความรู้สึกผิด (อายุ 3 – 5 ปี)

เป็นช่วงที่เด็กได้เรียนรู้ที่จะวางแผน สื่อสารหรือทำกิจกรรมกับผู้อื่น ได้ตั้งคำถาม และเริ่มหาความรู้มากขึ้น หากผู้ปกครอง หรือครูสนับสนุนจะทำให้พวกเขาพัฒนาทักษะความคิดริเริ่ม ทักษะความเป็นผู้นำ และคิดตัดสินใจ ในทางกลับกันหากถูกจำกัด อาจจะด้วยการคำพูดเชิงลบ ลงโทษ หรือควบคุม เด็กจะมีความรู้สึกว่าตนเองทำผิด และฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยลง ความคิดสร้างสรรค์ก็จะถูกจำกัดไปด้วย ระยะนี้จะส่งผลให้เกิดลักษณะพึ่งมีที่ดี คือ มีเป้าหมาย

4. Industry Vs. Inferiority : ความอุตสาหะ กับ ปมด้อย (อายุ 5 – 12 ปี)

ลักษณะที่พึ่งมีของขั้นนี้คือ ความสามารถ ในระยะนี้เพื่อนจะเข้ามามีบทบาท และเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของความภาคภูมิใจในตนเอง เพราะเด็กจะเริ่มเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อน หรือผู้คนรอบข้าง ต้องการได้รับการยอมรับทางสังคม และรู้สึกภูมิใจเมื่อทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ หากได้รับการสนับสนุนจากครู และผู้ปกครอง จะสร้างลักษณะนิสัยในเรื่องของความขยัน และเพิ่มความมั่นใจในตนเอง ส่วนเด็กที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจะเริ่มเกิดการตัดพ้อต่อสังคม รู้สึกต่ำต้อย และเกิดปมด้อยในใจ แต่ความล้มเหลวก็ไม่ได้เป็นสิ่งไม่ดี แต่เป็นบทเรียนสำคัญของชีวิตในการสอนเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนอีกด้วย

5. Identity Vs. Role Confusion : เข้าใจอัตลักษณ์ของตน กับ ความสับสนในตัวเอง (อายุ 12 – 18 ปี)

ลักษณะที่พึ่งมีของขั้นนี้คือ ความจงรักภักดี บนพื้นฐานของการยอมรับผู้อื่นแม้ว่าจะมีอุดมคติที่ต่างกัน โดยในระยะนี้เด็กเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า "ฉันเป็นใคร" และ "ฉันอยากทำอะไรในชีวิต" พวกเขาจะหาอัตลักษณ์ตนเองผ่าน ค่านิยม ความเชื่อ และเป้าหมาย ลองสวมบทบาทต่าง ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ "เหมาะสม" ที่สุดที่อยากเป็นในอนาคต โดย Erikson แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ อาชีพ และความชอบทางเพศ หากสร้างอัตลักษณ์ของตนเองไม่สำเร็จอาจทำให้เกิดความสับสนในตนเอง และเกิดการต่อต้านตัวตน และสร้างอัตลักษณ์ทางลบออกมาผ่านความรู้สึกไม่พอใจได้ เช่นทางอาชีพอาจไม่มีความสุขในการทำงาน หรือทางเพศอาจต้องทุกข์กับการปิดบังตัวตน เป็นต้น ดังนั้นการสร้างตัวตนที่แข็งแกร่งจะปกป้องความเชื่อ และจิตใจของเขาเมื่อต้องเผชิญกับความคิดเห็นที่แตกต่าง และยอมรับได้

6. Intimacy Vs. Isolation : ความสนิทสนม กับ ความโดดเดี่ยว (อายุ 18 – 40 ปี)

เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ความสนใจจะเปลี่ยนไปสู่การสร้าง และรักษาความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้อื่นในระยะยาวที่ไม่ใช่คนในครอบครัว เช่นการแต่งงาน สร้างครอบครัวใหม่ และมีบุตร หากความสัมพันธ์เป็นไปได้ดีจะทำให้เกิดลักษณะที่พึ่งมี คือ ความรัก ทำให้ความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ แต่หากไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น อาจส่งผลให้เกิดความกลัวการผูกมัด รู้สึกไม่มั่นคงในจิตใจ โดดเดี่ยว และซึมเศร้าได้

7. Generativity Vs. Stagnation : ความมีส่วนร่วม กับ ความเฉื่อยชา (อายุ 40 – 65)

ในวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง ผู้คนจะมีความกังวลเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมไม่ว่าจะผ่านการทำงาน หรือการเป็นพ่อแม่ ลักษณะที่พึ่งมีของขั้นนี้ คือ ความเอาใจใส่ มักมาในรูปแบบของการสั่งสอน สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีเพื่อผู้อื่นในอนาคต เช่น การเลี้ยงดูลูกอย่างดี สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในที่ทำงาน หรือสังคม หากผู้ใหญ่ที่มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และทำสำเร็จจะรู้สึกว่าตนเองมีประโชยน์ และคุณค่า แต่กลับกันหากไม่สำเร็จผู้คนอาจมองว่า ไม่ใส่ใจ เฉื่อยชา และคิดถึงแต่ตนเองได้

8. Ego Integrity Vs. Despair : ความมั่นคงทางจิตใจ กับ ความสิ้นหวัง (อายุ 65+)

คนวัยนี้จะทำงานน้อยลงเริ่มปรับตัวมาใช้ชีวิตในวัยเกษียณ จะใคร่ครวญถึงชีวิตของตนเอง ค้นหาความพึงพอใจ หรือล้มเหลวในชีวิตที่ผ่านมา ผู้ที่รู้สึกล้มเหลวจะหมกมุ่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขา "ควรทำ" หรือ "สามารถทำได้" รู้สึกผิดกับชีวิต นำไปสู่ความสิ้นหวัง และโรคซึมเศร้าได้ ถือเป็นโค้งสุดท้ายของชีวิตลักษณะที่พึ่งมีของขั้นนี้ คือ ปัญญาในการไตร่ตรองการใช้ชีวิตที่ผ่านมา และยอมรับความตายโดยปราศจากความกลัว ทฤษฎีการพัฒนาจิตสังคมของ Erikson จะนำไปสู่งกรอบของการศึกษาในเรื่องของการชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของมนุษย์แต่ละขั้นทั้งจากภายใน และภายนอก ว่าคุณครูหรือผู้ปกครองควรปลูกฝัง สนับสนุนเด็กในช่วงระยะการเรียนรู้แบบไหนจะเหมาะสมที่สุด เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ และนำไปสู่การใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

3. ทฤษฎีประสบการณ์ของโคล์บ (Kolb’s Experiential Theory)[5]

               เดวิด โคล์บ (David Kolb) นักทฤษฎีการศึกษาชาวอเมริกัน ในปี 1984 เขาได้เสนอทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ 4 ขั้นตอน ที่สร้างขึ้นบนสมมติฐานที่ว่าการเรียนรู้คือการได้มาซึ่งแนวคิดเชิงนามธรรมซึ่งสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ได้

 

กล่าวคือ “การเรียนรู้คือกระบวนการที่ความรู้ถูกสร้างขึ้นผ่านการเปลี่ยนแปลงของประสบการณ์”

– Kolb, D. A. (1984). Experiential learning: Experience as the source of learning and development

(Vol. 1). Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

 

ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ 4 ขั้นตอน

 

ขั้นที่ 1 เกิดประสบการณ์ (Concrete Experience)

เป็นการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในประสบการณ์ใหม่ เกิดการรับรู้ และตีความสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ผ่านความรู้สึกที่เจอขณะนั้น

ขั้นที่ 2 ไตร่ตรองพิจารณา (Reflective Observation of the New Experience)

ในขั้นตอนนี้จะเป็นการทบทวนให้เกิดการตกผลึกความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ โดยอาศัยวิธีการตั้งคำถาม เพื่อทำความเข้าใจกับประสบการณ์ใหม่ที่พบเจอได้อย่างลึกซึ้ง

ขั้นที่ 3 ตกผลึกองค์ความรู้ (Abstract Conceptualization)

เป็นการสะท้อนประสบการณ์ที่ได้รับมาตกผลึก หรือ ดัดแปลงแนวคิดมาเป็นความรู้ ความเข้าใจในแบบของตนเอง

ขั้นที่ 4 ทดลองประยุกต์ใช้ (Active Experimentation)

การเรียนรู้จะไม่ใช่แค่การได้รับแนวคิดใหม่ ๆ มาแต่เป็นการที่ผู้เรียนได้ทดลองใช้ความคิด ความรู้ที่ได้รับกับบริบทต่าง ๆ รอบตัว เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น

 

โดย Kolb ได้จำแนกผู้เรียนออกมาได้ 4 แบบ ดังนี้

1. แบบคิดอเนกนัย (Divergers) คือ รูปแบบการเรียนที่เน้นขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ผู้เรียนมีความสามารถในการรับรู้ และสร้างจินตนาการต่าง ๆ ขึ้นเอง สามารถไตร่ตรองจนมองเห็นภาพรวม ผู้เรียนแบบนี้จะทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่ต้องการความคิดหลากหลาย เช่น การระดมสมอง

2. แบบดูดซึม (Assimilators) หมายถึงรูปแบบการเรียนที่เน้นขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 ผู้เรียนมีความสามารถในการสรุปหลักการ หรือกฎเกณฑ์ได้ดี ผู้เรียนแบบนี้มักสนใจในหลักการที่เป็นนามธรรม มากกว่าแต่ไม่ชอบการลงมือปฏิบัติ

3. แบบคิดเอกนัย (Convergers) คือ รูปแบบการเรียนที่เน้นขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 ผู้เรียนมีความสามารถในการนำแนวคิดที่เป็นนามธรรม ไปใช้ในการปฏิบัติจริง ผู้เรียนแบบนี้สามารถสรุปวิธีที่ถูกต้องที่สุดออกมาได้จากการทดลองหลากหลาย ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหาแต่ใช้เหตุผล ชอบทำงานกับ วัตถุมากกว่าทำงานกับบุคคล มักมีความสนใจที่เฉพาะเจาะจงใน สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และมีความเชี่ยวชาญในสิ่งนั้น

4. แบบปรับปรุง (Accommodators) คือ รูปแบบการเรียนที่เน้นขั้นที่ 4 และขั้นที่ 1 ผู้เรียนแบบนี้จะชอบลงมือปฏิบัติชอบทดลอง และจะทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่ต้องใช้การปรับตัว มีแนวโน้มจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการที่ตนนึกคิดขึ้นเอง ชอบลองผิดลองถูก และชอบทำงานร่วมกับผู้อื่น

                 โดยหลักคิดของแต่ละขั้นในวัฏจักรนี้ สนับสนุน และนำไปสู่ขั้นต่อไป การเรียนรู้จะบรรลุผลได้ต่อเมื่อผ่านขั้นตอนทั้ง4 แล้ว แต่ละกลยุทธ์การเรียนรู้มีประสิทธิภาพด้วยตัวของมันเอง เช่น หากข้ามขั้นตอนการไตร่ตรอง อาจจะทำให้ผู้เรียนทำพลาดแบบเดิมอีกครั้งแม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการทดลองแล้ว และผู้เรียนควรต้องวนกลับไปทำแต่ละขั้นการเรียนรู้ซ้ำ ๆ เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับแต่ละหัวข้อได้อย่างลึกซึ้ง

 

4. ทฤษฎีพหุปัญญาของการ์ดเนอร์ (Howard Gardner’s Multiple Intelligences)[6]

            โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Earl Gardner) นักจิตวิทยาพัฒนาการชาวอเมริกัน และเป็นศาสตราจารย์ด้านความรู้ความเข้าใจและการศึกษา เขาศึกษาภายใต้กรอบของทฤษฎี 8 ขั้นตอนของ Erikson (8 Stages of Psychosocial Development) และทฤษฎี Spiral ของบรูเนอร์

ในปี 1983 ได้ตีพิมพ์หนังสือ “Frames of Mind: The Theory of Multiple Intelligences” ที่พูดถึงทฤษฎีพหุปัญญา (multiple intelligences) ภายใต้แนวคิดที่ว่า ความเฉลียวฉลาดเป็นความสามารถในการแก้ปัญหา หรือสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมอย่างน้อยหนึ่งอย่าง และชี้ให้เห็นว่าผู้คนสามารถเชี่ยวชาญในความฉลาดแต่ละประเภทได้หากสอนด้วยวิธีที่ตรงจุด โดยจำแนกความฉลาดของมนุษย์ออกเป็น 8 ประเภท เพื่อให้เข้าใจ และปรับปรุงความสามารถของตนเองได้อย่างเหมาะสม

1. Musical-Rhythmic ความฉลาดด้านดนตรี คือ การจำแนกระดับของเสียง น้ำเสียงและจังหวะได้ดี

2. Visual-Spatial ความฉลาดในเชิงพื้นที่ คือ การมองเห็นภาพเชิงพื้นที่ได้ดีกว่าผู้อื่น สามารถมองรูปภาพ แผนที่ แผนภูมิ วิดีโอ หรืออื่น ๆ ได้ดี

3. Verbal-Linguistic ความฉลาดด้านภาษาศาสตร์ คือ การเรียนรู้ และใช้ภาษาในรูปแบบการเขียน และการพูดเพื่อแสดงตัวตนได้ดี

4. Logical-Mathematical ความฉลาดด้านตรรกะ และคณิตศาสตร์ คือ สามารถไตร่ตรอง และคิดปัญหาซับซ้อนได้อย่างมีเหตุและผลได้อย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

5. Bodily-Kinesthetic ความฉลาดด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว เป็นการใช้ความสามารถทางจิตประสานการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งอนุมานได้ว่าแนวคิดของขั้นนี้มาจากเรื่อง The Psychomotor Domain (พฤติกรรมด้านร่างกาย) ของ Bloom[7]

6. Interpersonal ความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์ คือ การช่างสังเกต สามารถประเมินอารมณ์ สถานการณ์ ความปราถนา และแรงจูงใจของผู้อื่นได้ดี

7. Intrapersonal ความฉลาดด้านภายในบุคคล คือ คนที่ตระหนักรู้ในตนเองได้ดี สามารถประเมินตนเอง และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง

8. Naturalistic ความฉลาดด้านธรรมชาตินิยม คือ คนที่สามารถปรับตัวเข้ากับธรรมชาติแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

 

5. ทฤษฎีประสาทสัมผัสของเลียร์ด (Laird’s Sensory Theory)[8]

           Dugan Laird[9] ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในปี 1985 เขาได้กล่าวถึงแนวคิดของทฤษฎีประสาทสัมผัสไว้ว่า “Approaches to Training and Development” การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อประสาทสัมผัสได้รับการกระตุ้น โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 แบบ

 โดย Dugan Laird ได้อ้างงานวิจัยที่พบว่า 75% ของความรู้ในผู้ใหญ่ได้มาจากการมองเห็น 13% ผ่านการได้ยิน และ 12% ที่เหลือเรียนรู้ผ่านการสัมผัส กลิ่น และรสชาติรวมกัน

1. Touch - Tactile : การสัมผัสผ่านผิวหนัง

เรียนรู้จากปฏิกิริยาที่ร่างกายสะท้อนออกมาบ่งบอกถึงความเจ็บปวด และปฏิกิริยาทางอารมณ์ เช่นอารมณ์ทางด้านลบหากถูกสัมผัสจากคนแปลกหน้า สามารถฝึกฝนได้โดยการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้สมอง และร่างกายจดจำได้

2. Sound - Auditory : การได้ยิน

เรียนรู้จากปฏิกิริยาของระบบประสาท การสั่นสะเทือนไปกระตุ้นเส้นประสาท และสร้างสัญญาณข้อมูลส่งไปยังสมองทำให้เกิดการได้ยิน หากใครที่ระบบประสาทด้านการได้ยินดีจะสามารถตรวจจับเสียง และจำแนกเสียงได้ดี มีความไวต่อเสียง อาจมีแนวโน้มหงุดหงิด และรำคาญได้ง่าย สามารถฝึกฝนได้ผ่านการฟังหนังเสียง การอ่านออกเสียง หรือสื่อวิดีโอ

3. Sight - Visual : การมองเห็น

ถือเป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ช่วยให้สามารถตีความสภาพแวดล้อม และประมวลข้อมูลตามสิ่งที่เราเห็นเพื่อนำไปตั้งสมมติฐาน และสรุปตามประสบการณ์ก่อนหน้าของเราได้ สามารถฝึกฝนด้วยการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยภาพ การจัดระเบียบข้อความ สี หรือผ่านภาพยนตร์

4. Taste - Gustatory : รับรู้ผ่านรสชาติ

เป็นการรับรู้สารเคมีในอาหาร หรืออากาศ ปุ่มรับรสจะกระตุ้นและส่งสัญญาณไปยังเส้นประสาทสมอง และเก็บเป็นประสบการณ์เรียนรู้ ประสาทรับรส และกลิ่นจะเกิดขึ้นพร้อมกันเพื่อเพิ่มการรับรู้ที่เราทานเข้าไปได้ดียิ่งขึ้น

5. Smell - Olfactory : รับรู้ผ่านการดมกลิ่น

เป็นการกระตุ้นระบบลิมบิก (limbic system) อย่างรวดเร็วไปควบคุมการทำงานของระบบหายใจ และความดันโลหิตในสมอง และส่งผลออกมาเป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ ถือเป็นระบบที่สำคัญกับการเรียนรู้อย่างมาก เพื่อกระตุ้นถึงความกลัว และความโกรธของเราได้

             จึงอนุมานได้ว่า การทำงาน และการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น ด้านการอ่าน การสะกดคำ การเขียน การฟัง ความเข้าใจ และการใช้ภาษาที่แสดงอารมณ์ จะทำให้ผู้เรียนมีทางเลือกในการเรียนรู้มากขึ้น และสามารถเลือกใช้จุดแข็งของตนเองมาพัฒนาการเรียนรู้ส่วนบุคคลได้ดีอีกด้วย 

 

6. ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมของสกินเนอร์ (Skinner’s Behaviorist Theory)[10]

          บีเอฟ สกินเนอร์ (B.F. Skinner) นักจิตวิทยาและสังคมศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในปี 1930 เขาได้เสนอทฤษฎีการปรับสภาพผู้ปฏิบัติงาน (Operant Conditioning)[11] เป็นทฤษฎีที่พูดถึงการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ จากการทดลองกับหนูและนกพิราบเรียกว่า Skinner box โดยในกล่องจะมีถาดอาหาร และปุ่มกดจ่ายอาหาร หนูที่หิวโหยในกล่องจะได้รับอาหารก็ต่อเมื่อกดปุ่ม ในวันแรกที่ใส่หนูเข้าไป หนูจะเดินรอบ ๆ สำรวจ ดมกลิ่น และส่วนใหญ่จะเผลอไปกดปุ่มทำให้อาหารถูกจ่ายออกมา หลังจากผ่านไประยะหนึ่งเข้าพบว่าจำนวนครั้งในการกดปุ่มจ่ายอาหารเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกว่าหนูจะรู้สึกอิ่ม

            ทำให้อนุมานออกมาได้ว่า พฤติกรรมนี้นำไปสู่การเสริมแรง และเหตุการณ์บางอย่างขึ้นอยู่กับผลของพฤติกรรม หากได้รับการตอบสนองที่ดีจะมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง กลับกันหากได้รับการตอบสนองไม่ดีจะถูกทำให้หายไป และมองว่าพฤติกรรมของมนุษย์เป็นการกระทำที่กระทบต่อสภาพแวดล้อมของตนเองจำเป็นต้องมีการเสริมแรง[12] คือ

  • การเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement) เช่น คำชมเชย ความพอใจ หรือความสำเร็จ
  • การเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement) คือการทำให้ทราบว่าพฤติกรรมไม่ควรเกิดขึ้นผ่านการลงโทษ

โดยถูกแบ่งวิธีออกเป็นดังนี้

1. การเสริมแรงทุกครั้ง (Continuous Reinforcement)

จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมออกมาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทั้งในทางบวก และทางลบ เช่นนักเรียนตอบคำถามในห้องจะได้รับคำชมเชยเป็นการเสริมแรงทางบวก หรือนักเรียนโดดเรียนจะได้รับการลงโทษเป็นการเสริมแรงทางลบ เป็นต้น

2. การเสริมแรงเป็นครั้งคราว (Partial Reinforcement)

คือการกำหนดเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่พฤติกรรมนั้นจะแสดงออกว่า เช่น การบอกนักเรียนให้เงียบในห้องเรียนจนหมดคาบจะได้รับคะแนนจิตพิสัย เป็นต้น      

 

7. ทฤษฎีวินัยที่กล้าแสดงออกของแคนเตอร์ (Canter’s Theory of Assertive Discipline)

            ลี แคนเตอร์ (Lee Canter) เป็นอดีตครูที่ตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า “Assertive Discipline: A Take-Charge Approach for Today's Educator”[13] เขียนร่วมกับมาร์ลีน แคนเตอร์ (Marlene Center) ภรรยาของเขา กล่าวถึงปรัชญาการศึกษาที่ได้รับการยอมรับอย่างมาในสหรัฐอเมริกา

หลักคิดของ Assertive Discipline มีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่ว่า“ครูมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าอะไรดีที่สุดสำหรับนักเรียน และนักเรียนไม่ควรขัดขวางการเรียนรู้ของผู้อื่น” เป็นการเน้นไปถึงบทบาทของครูที่ควรจะควบคุมห้องเรียนอย่างเต็มที่

ครู และนักเรียนมีสิทธิ์ที่จะสอน และเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่สงบ ปราศจากการรบกวนจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จนนำไปสู่แนวคิดของระเบียบวินัยที่แน่วแน่เป็นระบบ มีโครงสร้างตามความเป็นจริงของสังคมโรงเรียน เพื่อช่วยให้ครูสามารถจัดการห้องเรียนของตนได้ เน้นให้ครูพัฒนา กลยุทธ์ การจัดการพฤติกรรมเชิงบวก มากกว่าการเป็นเผด็จการ คือ โดยตั้งกฎระเบียบเฉพาะ ชี้แจ้งด้านบวก และด้านลบที่เกิดจากการทำตาม และฝ่าฝืนกฎ ซึ่งทฤษฎีวินัยที่กล้าแสดงออกส่งผลให้ครูสามารถจัดการปัญหาในเรื่องของระเบียบวินัยในห้องเรียนได้ดียิ่งขึ้น

 

8. ทฤษฎีการจัดการชั้นเรียนของเดรคูร์ (Dreikur’s Classroom Management Theory)

             Rudolf Dreikur จิตแพทย์ และนักการศึกษาชาวออสเตรียได้เสนอทฤษฎีว่าด้วยเรื่องของการเคารพซึ่งกันและกันควรเป็นพื้นฐานสำหรับระเบียบวินัย และการเคารพซึ่งกันและกันนี้กระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมเชิงบวกได้

เขาเชื่อว่านักเรียนมีความปรารถนาโดยกำเนิดที่จะรู้สึกเหมือนเป็นสมาชิกที่ได้รับการยอมรับของกลุ่ม และรู้สึกว่าพวกเขามีค่า และมั่นใจในการมีส่วนร่วมกับกลุ่มนั้น พฤติกรรมเหล่านี้เรียกว่า "เป้าหมายที่แท้จริงของพฤติกรรมทางสังคม" หากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ พวกเขาจะเกิดพฤติกรรม "เป้าหมายของการประพฤติผิด" เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นจากการเข้าใจแบบผิด ๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับที่พวกเขาไม่ได้มา เช่นเด็กเกเรที่ต่อยตีเก่งได้รับการยอมรับจากเด็กเกเรด้วยกันเอง เป็นต้น

โดย เดรคูร์ ได้แบ่งระยะของการเกิดพฤติกรรมไม่ดี ไว้ 4 ระยะ ดังนี้

  • ได้รับความสนใจ เช่น พฤติกรรมนอนร้องไห้บนพื้นเพราะอยากให้พ่อแม่ซื้อของเล่นให้
  • ได้รับพลัง และการควบคุม เช่น การเป็นหัวโจก การตั้งกลุ่มพูดคุยในห้องเรียนขณะครูสอน
  • บรรลุการแก้แค้น เช่น การกลั่นแกล้ง ทำร้ายเพื่อน หรือครู เมื่อเขาไม่พอใจ
  • ตีตัวออกห่าง และลดทอนคุณค่าตนเอง

กล่าวคือหากนักเรียนล้มเหลวในการได้รับสถานภาพทางสังคมในระยะของการดึงดูดความสนใจ พวกเขาจะพยายามที่จะได้รับอำนาจและการควบคุมแทน อาจเป็นในทางลบ เช่นการเป็นหัวโจก แต่ถ้าหากล้มเหลวในแต่ละระดับต่อเนื่องกัน จะจบลงด้วยความรู้สึกขาดคุณสมบัติ และตีตัวออกจากสังคม เกิดปมด้อยในจิตใจมองว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการ

ซึ่งแนวคิดนี้ของเดรคูร์ สามารถนำมาอ้างกับแนวคิดของ อีริคสัน (Erikson’s 8 Stages of Psychosocial Development) ในขั้นที่ 4 ความอุตสาหะ กับ ปมด้อย (Industry Vs. Inferiority) ว่าด้วยเรื่องของความต้องการเป็นที่ยอมรับหากได้รับจะสร้างความมั่นใจจนเกิดลักษณะของความขยันอดทนเพื่อจะได้สำเร็จมากขึ้น ถ้าไม่ได้รับการยอมรับจะเกิดผลด้านลบเช่น การน้อยใจ เกิดปมด้อย และลดทอนคุณค่าของตนเองได้

แล้วคุณครูจะสามารถรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ?

เดรคูร์ได้เสนอแนวคิดการรับมือกับเป้าหมาย 4 ประการ ดังนี้

  • ระยะ1 ได้รับความสนใจ ให้เพิกเฉยต่อการเรียกร้องความสนใจ และใช้การเสริมแรงเชิงบวกเพื่อให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเบี่ยงเบนความสนใจโดยเสนอการกระทำหรือทางเลือกอื่น ๆ ให้แทน
  • ระยะที่ 2 ได้รับพลัง และการควบคุม คุณครูจดจ่อกับพฤติกรรมที่ดีทั้งหมดในชั้นเรียน โดยไม่สนใจเด็กที่แสดงพฤติกรรมนี้ และไม่ควรเข้าไปต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจด้วย
  • ระยะที่ 3 ได้รับการแก้แค้น ต้องจำไว้ว่าเด็กมักแสดงออกมาโดยไม่ไตร่ตรอง และเพื่อเรียกร้องความสนใจ ควรแสดงออกให้นักเรียนทุกคนรู้ว่าคุณห่วงใยในการศึกษาของพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะทำอะไรก็ตาม คุณก็ยังต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา
  • ระยะที่ 4 ในขั้นตอนนี้เด็กจะแสดงออกในรูปแบบของการ “ไม่ทำ” เช่น ไม่ทำการบ้าน ไม่มีส่วนร่วมกิจกรรม เป็นต้น ในขั้นนี้ครูควรแสดงความสนใจในตัวพวกเขา ติชม และทำให้พวกเขารู้จักถึงความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อที่จะสร้างแรงเสริมทางบวก และดึงเขาเข้ามาในสังคมอย่างช้า ๆ

                   สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากบทความนี้คือ มนุษย์ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ และพัฒนา มีนักการศึกษามากมายที่คิดค้นแนวคิด และทฤษฎีออกมาทั้งสำเร็จ และไม่สำเร็จ การที่เราอ่านเรื่องอดีตในตอนนี้ นำไปสู่การพัฒนาอนาคต สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นทักษะที่สำคัญจริง ๆ สำหรับคนทุกช่วงวัย คุณคิดว่าในอนาคตทฤษฎีการเรียนรู้ใหม่ ๆ จะออกมาหน้าตาแบบไหน? แนวคิดเป็นอย่างไร ลองอ่านและหาคำตอบไปกับอัตนัย และบทความนี้ครับ

 


อ้างอิง

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง