สรุปให้รู้ตามทันโลกอนาคตการศึกษา ep.27 BANI World เรื่องของ “โลก” ที่ท้าทายการศึกษา

 

 

BANI World เรื่องของ “โลก” ที่ท้าทายการศึกษา

 

 

 


                 

 

 

 

สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา

   EP.27 BANI World เรื่องของ “โลก” ที่ท้าทายการศึกษา

 

                      เคยรู้สึกไหม ว่าเทรนด์สมัยใหม่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อะไร ๆ ก็ส่งถึงกันแบบเสี้ยววินาทีจนคนยุคใหม่แทบไม่รู้จักการรอคอย หากคุณไม่วิ่งตามกระแสสังคมและแนวคิดใหม่ ๆ ให้ทันอาจตกขบวนรถไฟแห่งความเจริญเพื่อก้าวไปพร้อมกับโลกใหม่ใบนี้เลยก็ได้

 

เหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่ทำให้โลกเปลี่ยนไปนอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้วการระบาดของโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่บีบคั้นให้ทุกคนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วในหลายด้าน ๆ โดยเฉพาะกับการศึกษาที่ต้องปรับมาใช้แบบออนไลน์และเกิดโมเดลการศึกษาใหม่ ๆ มากมาย เช่นการเรียนแบบ Hybrid Learning , Open Integration Platform หรือ Hyflex Learning เป็นต้น และเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลยคือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในประเทศเพราะเป็นตัวสำคัญที่ส่งผลถึงหลาย ๆ ด้าน

 

ในยุคก่อนหน้าโควิด-19 ทั่วโลกใช้แนวคิด VUCA World[1] โมเดลที่ผู้คนยึดถือมาตั้งแต่สมัยยุค 1985 และได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ผ่านมา แต่ในยุคนี้กลับไม่เพียงพอต่อการปรับตัวของโลกอีกต่อไปแล้ว จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็น BANI World โมเดลแนวคิดใหม่ที่นิยามโลกได้ชัดเจนขึ้นเพื่อเตรียมผู้คนให้พร้อมรับมือกับปรากฏการณ์เหนือความคาดหมาย

 

   VUCA World โลกใบเก่าเป็นอย่างไร?

โลกใบนี้ถูกนิยามว่าเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงและพลิกผันอย่างรวดเร็ว แนวคิดนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1985 จากนักเศรษฐศาสตร์นามว่า Warren Bennis และ Burton Nanus นำเสนอโมเดล VUCA ในหนังสือ Leaders: The Strategies For Taking Charge[2] โดยให้แนวคิดดังนี้

 

  • V (Volatility) คือ ความผันผวน การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ไม่สามารถคาดเดาได้
  • U (Uncertainly) คือ ความไม่แน่นอน ยากต่อการตัดสินใจ
  • C (Complexity) คือ ความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในเชิงระบบ
  • A (Ambiguity) คือ ความคลุมเครือไม่ชัดเจนและไม่สามารถคาดเดาผลได้ชัดเจน

 

                พออ่านถึงตรงนี้ทุกคนเริ่มเอ๊ะกันใช่ไหมว่าโลกตอนนี้ก็ยังคงผันผวน ไม่แน่นอน และซับซ้อนอยู่เหมือนเดิม แต่ทำไม VUCA World ถึงไม่ตอบโจทย์กับโลกยุคนี้อีกแล้ว?

   BANI World แตกต่างจากโลกเดิมอย่างไร?

โมเดลใหม่นี้ถูกสร้างขึ้นโดยนักมานุษยวิทยาและนักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกันนามว่า Jamais Cascio ได้เขียนบทความขึ้นในปี 2020 เรื่อง Facing the Age of Chaos[3] และกล่าวถึงว่า VUCA World นั้นไม่ใช่ยุคนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะโลกในตอนนี้มันมากกว่าความผันผวนอย่างที่เคย

>>> จากโลกที่เคยผันผวน (Volatility) กลายเป็นหมดความน่าเชื่อถือเพราะความเปราะบางทางความรู้สึก (Brittle)

หากสังเกตให้ดีโลกของเราในปัจจุบันกำลังแอบซ่อนปัญหามากมายไว้อยู่ หากฟันเฟืองตัวไหนล้มลงไปก็สามารถกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นตัวอย่างของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์[4] ในปี 2008 เกิดภาวะฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาแต่กลับส่งผลกระทบไปทั่วโลก เศรษฐกิจถือเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลกระทบกับการศึกษาโดยตรง หากผู้ใหญ่ไม่มีอาชีพเด็ก ๆ ในครอบครัวเหล่านี้ก็จะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปและอาจกระทบไปถึงตัวรัฐบาลและโรงเรียนอีกด้วย นอกจากนี้เรื่องสภาวะจิตใจของผู้คนก็เป็นปัจจัยที่ทำให้โลกเปราะบาง ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาทำให้ผู้คนเสพติดความสบายส่งผลให้พฤติกรรมของคนยุคใหม่มีความเปราะบางทางอารมณ์สูงขึ้น

 

>>>   มากกว่าความรู้สึกไม่แน่นอน (Uncertainly) พวกเขาวิตกกังวลมากขึ้น (Anxious) จนนำไปสู่ทัศนคติเชิงลบ

ธรรมชาติของมนุษย์เป็นพวกที่มักมองโลกในแง่ร้ายเป็นส่วนใหญ่ ในโลกที่ Big Data มากมายทำให้รับทั้งข้อมูลจริงและเท็จได้ตลอดเวลา การรายงานข่าวของทั่วโลกถูกเซตไว้ที่ข่าวร้ายก่อนเสมอเพื่อนำเสนอด้านมืดของโลกและเตือนถึงกฎเกณฑ์ทางสังคม ยิ่งโลกวุ่นวายเท่าไหร่ความกังวลของผู้คนก็ยิ่งสูงขึ้นจนทำให้ไม่กล้าคิดนอกกรอบ นิ่งเฉยเพื่อหลีกเลี่ยงการรับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมทางสังคมเพราะกลัวว่าตนเองจะเป็นต้นต่อของปัญหา ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์ในโลกถูกทำลายไปba

 

>>>   ระบบต่าง ๆ ไม่ซับซ้อนแบบระบบเชิงเส้นอีกต่อไป (Complexity) แต่ในยุคนี้กลับเป็นไปตามตรรกะที่ไม่อาจคาดเดาได้ (Non-linear) เพราะเหตุและผลเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา

ตรรกะพื้นฐานของสิ่งที่เรารู้มาแบบลูกโซ่ของเหตุและผลกระทบแบบเดิม ๆ มันไม่สามารถคาดเดาได้อีกต่อไปแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือการระบาดของโควิด-19 ใครจะรู้ว่าการที่เรามีอาการหวัดเล็กน้อย มันจะไม่ใช่แค่หวัดแต่กลายเป็นการแพร่ระบาดระดับโลก หรือการทะเลาะกันเพียง 2 ประเทศในทั้งหมดกว่า 193 ประเทศระหว่างรัสเซียและยูเครน[5] จะนำไปสู่วิกฤตด้านอาหารทั่วโลก เพราะการปิดท่าเรือยูเครนของรัสเซียทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นและเกิดการขาดแคลนอาหารจำนวนมากในประเทศที่ยากจนบางส่วนของโลก เห็นได้ชัดว่าระบบต่าง ๆ ของโลกยุคใหม่มีความเชื่อมโยงกันจากจุดเล็ก ๆ แต่เกิด butterfly effect นำไปสู่ผลกระทบในวงกว้างจนเกินคาดการณ์ได้

 

 >>> จากความคลุมเครือในอดีต (Ambiguity) กลับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจได้ในปัจจุบัน (Incomprehensible)

ความไม่เข้าใจนี้เกิดจากทั้งสามสิ่งที่กล่าวมา คือ ความเปราะบาง ความกังวล และการคาดเดาไม่ได้ ทำให้โลกนี้เข้าใจยากมากขึ้น Jamais Cascio ผู้คิดค้นแนวคิดนี้ได้เปรียบเทียบเรื่องของความเข้าใจยาก (Incomprehensible) ผ่านเหตุการณ์การพัฒนาซอฟต์แวร์[6] ไว้ว่า “ในการเขียนโปรแกรมอาจมีโค้ดบางตัวที่ดูซับซ้อนและไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไรหากใส่มันลงมาแต่ถ้าลบโค้ดนี้ออกโปรแกรมตัวนี้อาจจะล่มโดยไม่รู้สาเหตุ” แม้ว่าปัจจุบันจะมีข้อมูลมากมายให้เลือกใช้ประกอบการตัดสินใจ แต่โลกแห่งความไม่เข้าใจใบนี้นำไปสู่ความรู้สึกคลุมเครือและการตัดสินใจที่พลาดได้อยู่ดี

 

 

   โลกของ BANI World ทำให้ต้องเตรียมพร้อมทักษะ[7] ในด้านไหนบ้าง?

 >>>   ความเปราะบางของโลกทำให้ผู้คนต้องมีความรู้ ความสามารถ และความยืดหยุ่น (Capacity & Resilience)

นอกจากการเสริมทักษะด้านความรู้ ความสามารถในโรงเรียนแบบทั่วไป การสร้างวิธีคิดแบบยืดหยุ่นจะทำให้สามารถอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์ อาจเสริมทักษะนี้ได้ด้วยกิจกรรมสถานการณ์สมมติ ให้พวกเขาได้เผชิญปัญหาจริงด้วยตนเองเป็นบทเรียนที่ดีที่สุด เหมือนกับที่ Gert J. J. Biesta นักการศึกษาชาวยุโรปได้เขียนไว้ในหนังสือ The Beautiful Risk of Education[8] ปี 2014 ว่าการเรียนรู้ในปัจจุบันกำลังตีกรอบไปสู่เส้นชัยแบบสำเร็จรูปให้กับเยาวชน อะไรที่นอกแผนมักมองว่าเป็นความเสี่ยงและถูกตัดทิ้งทำให้ขาดทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและความยืดหยุ่นไป การได้เจอประสบการณ์โดยตรงอาจเป็นการเรียนรู้ที่ดีกว่าความมั่นคงแบบจัดวาง นอกจากนี้การเสริมทัศนคติบวกและคิดนอกกรอบให้หลากหลายยังช่วยเพิ่มทักษะยืดหยุ่นได้อีกด้วย

 

 >>>   ความวิตกกังวลต้องการคนที่มีสติเและเพิ่มทักษะความเห็นอกเห็นใจ (Empathy & Mindfulness)

การฝึกให้มีสติอยู่ตลอดเป็นเรื่องพื้นฐานการเรียนรู้ของทุกอย่าง[9] มันช่วยให้สามารถตระหนักถึงอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของตนเองได้มากขึ้น เมื่อรับรู้ก็สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเมื่อมันส่งผลลบจนทำให้เกิดความเครียดและสอนเพิ่มเติมให้พวกเขาได้จัดการความกังวลได้อย่างสร้างสรรค์ไม่หลงทาง อีกทั้งในโลกที่ผู้คนต่างนิ่งเฉยต่อเรื่องร้าย ๆ ของผู้อื่นและกังวลแต่เรื่องของตนเองหากคนยุคใหม่มีสติเป็นพื้นฐานการพัฒนาทักษะความเห็นอกเห็นใจจะทำได้ง่ายขึ้น ทักษะนี้ทำให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี ส่งความคิดเชิงบวกและความปรารถนาดีให้กับตัวเองและผู้อื่น

 

 >>>   ความไม่อาจคาดเดาได้ต้องการบริบททางสังคมและทักษะการปรับตัว (Context & Adaptivity)

ในโลก BANI World ที่ไม่อาจคาดเดาได้บริบททางสังคมเหมือนเป็น Guidebook ที่ทำให้สามารถคาดเดาโครงร่างของสังคมแต่ละแบบได้มากขึ้นแต่มันก็ไม่ได้แน่นอน 100% ทักษะการปรับตัวจึงสำคัญต่อโลกยุคใหม่ การเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตามธรรมชาติ เมื่อสอนให้เด็กยอมรับได้ว่าไม่มีอะไรที่เหมือนเดิมไปได้ตลอด มุมมองใหม่ ๆ และทักษะการปรับตัวก็จะพัฒนาและเปิดกว้างมากขึ้น เมื่อพวกเขาเจอปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงของโลกก็เอาตัวรอดจากผลกระทบเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ทักษะการปรับตัวเป็นส่วนหนึ่งของทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เป็นเทรนด์การศึกษาสำคัญในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย

 

 >>>   ความไม่เข้าใจต้องการความโปร่งใสและทักษะสัญชาตญาณ (Transparency & Intuition)

ในโลกที่ไม่สามารถเข้าใจได้แน่นอนอยู่แล้วว่าความโปร่งใสเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการเพื่อหวังว่าหากหาข้อมูลอ้างอิงจาก Big data มากมายจะพบคำตอบที่ถูกจนนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาด และทักษะสัญชาตญาณ[10] ก็เป็นเหมือนดวงแห่งโชคที่มาในรูปแบบประสบการณ์ภายนอก การรู้บางสิ่งบางอย่างโดยตรงโดยไม่ต้องมีความคิดวิเคราะห์เข้ามาแทรกแซงแต่ทำหน้าที่ตามมุมมองความคิดของแต่ละบุคคล ทักษะนี้ทำให้รับมือกับการจัดการที่ไม่อาจเข้าใจได้ เพราะหากเราไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ก็ไม่รู้ขั้นที่หนึ่งว่าควรจะเริ่มที่ตรงไหนแต่ทักษะนี้ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมแห่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพื่อนำไปต่อยอดในการวิเคราะห์อีกขั้น เสริมทักษะสัญชาตญาณได้ด้วยกิจกรรมแบบถามไวตอบไว การจำกัดเวลาในการตอบทำให้คำตอบนั้นไม่ได้ผ่านการคิดวิเคราะห์ มันจะถูกใช้ในส่วนของสัญชาตญาณแทน นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มทักษะขึ้นได้ด้วยการใส่ใจต่อการตอบสนองทางกายภาพ รูปภาพ ความรู้สึก และความบังเอิญอย่างสม่ำเสมอ

                 

                  ใคร ๆ อาจจะคิดว่าโลกเปลี่ยนทุกวันจนเป็นเรื่องไกลตัว มองว่าคงเปลี่ยนที่ประเทศใหญ่ ๆ กว่าจะมาถึงเราคงอีกนาน แต่การเตรียมพร้อมให้นักเรียนมีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนไปของโลกเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเพราะการรับมือกับโลกที่คาดเดาไม่ได้ ความรู้ ทักษะและสมรรถนะเฉพาะตัวจะทำให้พวกเขาไม่สับสนหรือหลงทาง สามารถแก้ปัญหา และเอาตัวรอดด้วยตนเองได้

 

นิยาม BANI World ของ Jamais Cascio กำลังบอกเราว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้และเป็นไปอย่างรวดเร็ว นี้ยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ระบบการศึกษา วิธีการเรียนรู้ ข้อมูลที่จะเชื่อมต่อกับผู้คนรอบข้างหรือแม้แต่ภาษาสากลไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่แน่นอน ที่น่ากังวลคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและภาวะถดถอยในการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้ด้านดิจิทัลโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศไทยเองคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้ากำลังเข้าสู่ระบบผู้สูงอายุระดับสุดยอดหากไม่มีความพร้อมด้านทักษะการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ อาจหลุดจากประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นด้อยพัฒนาเลยก็ได้

                 

แนวคิดของโลก BANI World ช่วยคุณในการเตรียมตัวอย่างไรและคิดว่าการศึกษาไทยต้องเตรียมพร้อมด้านไหนอีกบ้าง มาแลกเปลี่ยนไปด้วยกันกับบทความนี้ครับ

 

 

         

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

 

 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง