Empathy ความเข้า(ถึง)ใจที่สอนกันได้

Empathy ความเข้า(ถึง)ใจที่สอนกันได้

 

Empathy

 

 

 

เราอาจคิดว่า Empathy เป็นพรสวรรค์เฉพาะตัว แต่จริง ๆ แล้ว Empathy เป็นสิ่งที่เราทุกคนสร้างขึ้นได้

 

          ปัจจุบันเรื่อง Empathy นั้นสำคัญไม่แพ้เรื่องวิชาการ ยิ่งเด็ก ๆ ที่ต้องได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ตลอดเวลา ทำให้ต้องทำกิจกรรมหลากหลายไปพร้อมกัน การตอบสนองกับสิ่งรอบข้างอาจช้าหรือน้อยลง เพราะความสนใจไปอยู่กับกิจกรรมตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การสอบ การบ้าน กับยุคสมัยของโลกโซเชียล และสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เบี่ยงเบนความสนใจไปจากคนรอบข้าง เกิดปฏิสัมพันธ์ลดลง  ซึ่งส่งผลต่อ Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

 

          หากคุณครูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  โดยเฉพาะในช่วงเรียนออนไลน์ที่ส่งผลต่อระยะห่างทางสังคม การสร้างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการสร้างปฏิสัมพันธ์ รู้จักใจเขาใจเราด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง การทำกิจกรรมกับครอบครัว การทำงานกลุ่มกับเพื่อน ๆ หรือการเปิดชั่วโมงซักถามและพูดคุย เพื่อเกิดปฏิสัมพันธ์ รู้จักและเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันคุณครูเองก็จะเข้าใจเด็กมากขึ้นด้วยเช่นกัน กับข้อจำกัดที่เด็กแต่ละคนมี จนเกิดเป็นเข้าใจซึ่งกันและกัน สร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่ดีขึ้น และส่งผลต่อการจัดการชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้


แล้วจะสร้าง Empathy ในห้องเรียนได้อย่างไร?

Empathy ในห้องเรียน

 

ให้นักเรียนได้แสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา

          “เป็นผู้ชายห้ามร้องไห้” คำกล่าวของผู้ใหญ่ที่มักจะบอกเด็ก ๆ ในอดีต แต่รู้หรือไม่ว่าการที่ให้เด็กได้แสดงความรู้สึกออกมาเป็นการเปิดโอกาสให้เล่าความรู้สึก แสดงด้านที่อ่อนไหวของตัวเองโดยที่เด็กรับรู้ได้ว่ายังมีคนคอยเปิดใจรับฟังและรู้สึกปลอดภัยที่มีคนอยู่เคียงข้าง เป็นวิธีที่ทำให้เด็กได้เข้าใจความ Empathy จากคุณครู และพัฒนาเป็นความเข้าใจและเห็นใจคนอื่นในที่สุด

 

สร้างคำถามปลายเปิด “แล้วคนอื่นรู้สึกอย่างไร?”

          ครูสามารถนำเรื่องราว แบ่งปันประสบการณ์จริง พร้อมตั้งคำถามให้นักเรียนได้ฝึกคิด วิเคราะห์จากสิ่งที่รับฟัง  หากต้องอยู่ในเหตุการณ์นั้น เราจะรู้สึกอย่างไร และคิดว่าคนอื่นจะคิดเหมือนกับเราหรือไม่  เพื่อเรียนรู้ความเป็น Empathy ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และถามตัวเองในสถานการณ์ต่าง ๆ ว่า “คนอื่นรู้สึกอย่างไร” ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจผู้อื่นด้วย

 

การมีต้นแบบช่วยให้เข้าถึงได้เร็วขึ้น

          การลงมือสอนอย่างเดียวก็คงไม่พอ ครูสามารถสร้างกิจกรรมสนุก ๆ เล่นบทบาทสมมติจากนิทาน ละครหรือวรรณกรรม โดยการให้เด็ก ๆ ทำความรู้จักหรือสวมบทเป็นตัวละครเพื่อศึกษามุมมอง บุคลิกต่าง ๆ แล้วให้นักเรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดหรือความรู้สึกของตัวละครในแต่ละบทสนทนา ซึ่งการที่เข้าใจตัวละครนั้นจะทำให้เด็ก ๆ มีความ Empathy คิดถึงความรู้สึกของตัวละครนั้น ๆ ต่อยอดจนกลายเป็นคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น

 

เรียนรู้และรับฟังผู้อื่น

          การแสดงความจริงใจ เอาใจใส่ต่อคู่สนทนา อดทนเพื่อฟังเหตุและผล เป็นผู้ฟังที่ดี กิจกรรมง่าย ๆ ให้เด็กทวนคำตอบที่เพื่อนตอบคำถามไป ฝึกให้โฟกัสกับหัวข้อของการสนทนา จับประเด็นเพื่อแสดงความคิดเห็น เพื่อต่อยอดสู่การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

 

รู้จักคนอื่นแล้วต้องรู้จักตัวเองด้วย

          เพราะทุกอย่างต้องมีความสมดุลกัน ความ Empathy นอกจากต้องเรียนรู้ผู้อื่นแล้ว เราต้องสอนให้เด็ก ๆ รู้จักตัวเองด้วย ซึ่งครูสามารถตั้งคำถามว่า “สิ่งที่ตัวเองทำได้ดีคืออะไร” เป็นการให้เด็ก ๆ ได้สำรวจข้อดีหรือความสามารถของตัวเอง แล้วให้ลองคิดต่อว่าข้อดีและศักยภาพของตัวเองนั้นจะต่อยอดไปสู่การช่วยเหลือคนอื่นอย่างไรได้บ้าง เป็นการเพิ่มความมั่นใจในข้อดีให้กับเด็ก ๆ และสนับสนุนให้นำข้อดีนี้ไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

 

          ความ Empathy ไม่ได้ทำให้เด็ก ๆ ปฏิบัติต่อคนอื่นดีขึ้นเท่านั้น แต่ทำให้กล้าลงมือทำสิ่งที่ดีขึ้นด้วย เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้น พวกเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความ Empathy และสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก learneducation.co.th, schoolofchangemakers.com

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

 เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง