ห้องเรียนสานสัมพันธ์ ห้องเรียนในฝันของทุกคนเป็นแบบไหนกันนะ

ห้องเรียนสานสัมพันธ์ ห้องเรียนในฝันของทุกคนเป็นแบบไหนกันนะ

 

ห้องเรียน

 

 

ห้องเรียนในฝันของทุกคนเป็นแบบไหนกันนะ บรรยากาศในห้องเรียนที่เคยอยู่ เราเคยได้สานสัมพันธ์กับเพื่อนในชั้นเรียนและคุณครูมากน้อยแค่ไหน บทบาทของครูผู้สอนได้ใช้ห้องเรียนสานสัมพันธ์กับเด็ก ๆ หรือเปล่า หรือห้องสี่เหลี่ยมแห่งนี้เป็นแค่ที่ระบายความรู้การศึกษาเท่านั้น การเรียนรู้ที่ดีย่อมมีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จ ครูสามารถสร้างสิ่งนั้นได้ด้วยการเริ่มต้นใช้ห้องเรียนสานสัมพันธ์เพื่อต่อยอดให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนได้อย่างมีความสุข

 

 

บทสนทนาที่คุ้นชินก่อนเริ่มเรียน 
นักเรียน : Good morning teacher. How are you? 
คุณครู : I'm fine. Thank you. Sit down.
ประโยคสนทนาสั้น ๆ ที่ทุกคนคุ้นชินกับการทักทายก่อนเริ่มเรียน เชื่อว่าทุกคนต่างเติบโตมาพร้อมกับบรรยากาศใน
ห้องเรียนเช่นนี้ เมื่อสิ้นสุดประโยคทักทายนี้ ครูและนักเรียนเคยมีบทสนทนาเพื่อสานสัมพันธ์กันต่อหรือไม่ หรือเราทักทายกันด้วยประโยคเดิมทุกวันจนเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันกันไปแล้ว ถ้าเราเปลี่ยนประโยคเหล่านี้เป็นคำพูดอื่นได้ เราอยากพูดอะไร… 
ถ้าเช้าวันดี ๆ ของการเริ่มต้นการสอน ครูลองเปลี่ยนบทสนทนาเดิม ๆ ให้แตกต่างดูบ้าง ลดความเป็นแบบแผนแล้วเพิ่มความเป็นธรรมชาติให้มากขึ้น แค่ใช้เวลา 3-5 นาทีแรกพูดคุยหยอกล้อกับ
นักเรียน แสดงความใส่ใจด้วยการสนทนาสั้น ๆ เพียงแค่นี้ก็ถือว่าได้สร้างบรรยากาศที่ดีก่อนเริ่มเรียนแล้ว 

 

สานสัมพันธ์ของครูและนักเรียนเริ่มต้นได้ที่
     
ห้องเรียน คือ สถานที่แรกที่เราจะเจอเด็ก ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนได้ดีที่สุด เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นในห้องสี่เหลี่ยมแบน ๆ แห่งนี้ ทั้งความทรงจำ การเรียนรู้ อารมณ์ความรู้สึก และความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือบรรยากาศในชั้นเรียนที่ดีจะเอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนได้มาก งานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนพบว่า ห้องเรียนที่มีบรรยากาศอบอุ่นจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความสนใจบทเรียนและตั้งใจเรียนมากขึ้น ครูและนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ห้องเรียนเป็นระเบียบและสะอาดจะสร้างบรรยากาศที่ดี ทำให้นักเรียนมีความสุขเมื่อได้มาโรงเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่ครูผู้สอนสามารถสร้างขึ้นได้ 

 

สานสัมพันธ์

 

เผยวิธีสานสัมพันธ์ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้ใจเท่านั้น! 
จำชื่อเด็ก ๆ เหมือนจำชื่อคนที่เรารัก 
      เปรียบเด็ก ๆ ใน
ห้องเรียนให้เหมือนบุคคลรอบตัวที่เรารัก จดชื่อ ขานชื่อ เรียกชื่อที่เด็กต้องการให้เรียก แค่เราจำชื่อพวกเขาได้มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเราได้ให้ความสำคัญกับการรับรู้ตัวตนของพวกเขาแล้ว เหมือนกับการที่เด็ก ๆ จำชื่อคุณครูประจำชั้น คุณครูประจำวิชา หรือแม้กระทั่งครูใหญ่ของโรงเรียนได้ นอกจากนี้อย่าลืมว่าเด็ก ๆ ไม่ได้มีแค่ครูที่พวกเขาต้องเข้าใจ ยังมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ต้องให้ความสำคัญไม่ต่างกัน ครูจึงควรมีกิจกรรมแนะนำตัว หรือออกแบบกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้พวกเขาได้มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน 

 

สร้างความใกล้ชิดแชร์ของส่วนตัว เหมือนที่เราอยากบอกให้เพื่อนสนิทรับรู้ 
      กิจกรรม What’s in my bag?  เปิดกระเป๋าเพื่อแชร์เรื่องเล่า กิจกรรมนี้อาจดูไม่มีอะไรมาก แต่ต่างฝ่ายต่างได้ฟังเรื่องเล่าของกันและกัน เวลาเรามีของดี สิ่งของที่บ่งบอกถึงความทรงจำ ประสบการณ์ หรืออาจเป็นของใช้ประจำวัน เราอยากบอกเพื่อนว่าเราพกพาอะไรบ้าง เพียงแค่ฟังเรื่องราวจากสิ่งของหนึ่งชิ้น ก็อาจทำให้รับรู้ถึงตัวตนและความรู้สึกของบุคคลนั้นได้แล้ว ครูอาจให้
นักเรียนเริ่มต้นด้วยการเล่าที่มาที่ไปของสิ่งของชิ้นนั้น สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ฟัง บางครั้งอาจเกิดความบังเอิญที่นักเรียนคนหนึ่งอาจมีสิ่งของเหมือนเพื่อนอีกคน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรู้จักแบ่งปัน

 

แบ่งปันประสบการณ์บอกเล่าปัญหา เราทุกคนต่างมีปัญหาให้ได้เรียนรู้และพัฒนา
      เด็กมักมองผู้ใหญ่เป็นต้นแบบเสมอ เพราะพวกเขารู้ว่าเราเห็นโลกมาก่อน ได้ใช้ชีวิตมาก่อน ได้เจอะเจอในสิ่งที่พวกเขายังไม่เคยพบ การที่ครูจะหยิบยกเรื่องเล่าดี ๆ มาเรื่องหนึ่งไม่ว่าจะเป็น ก้าวแรกแห่งความสำเร็จในชีวิตหรือเรื่องราวผิดหวังในชีวิตที่เกิดเป็นแผลใจแต่ให้บทเรียนที่ดี เรื่องราวแค่เรื่องเดียวก็เป็นตัวอย่างให้นักเรียนได้นำไปปรับใช้กับตัวเองในอนาคต ได้เรียนรู้ตัวอย่างที่ดีและไม่ดี หลังจากนั้นให้นักเรียนเป็นผู้แชร์ประสบการณ์บ้าง แม้นักเรียนจะอยู่ในวัยเดียวกัน แต่พวกเขาอาจรับรู้ปัญหา หรือมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน จุดนี้อาจเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำความเข้าใจ เรียนรู้ที่จะให้กำลังใจกัน เป็นเพื่อนร่วมเดินทางสานสัมพันธ์ที่ดี

 

จงรับฟังคนอื่น เหมือนที่เราอยากให้คนอื่นรับฟังเรา
      ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดก็แล้วแต่ เด็กจะเจออะไรมา จะดีหรือร้าย ครูควรรับฟังและไม่ด่วนตัดสินก่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเรียน การทะเลาะเบาะแว้งในชั้นเรียน หรือปัญหาครอบครัว ลองลงไปเรียนรู้ปัญหาของเด็กให้ลึกขึ้น เจรจาพูดคุยด้วยเหตุผลอย่างประนีประนอม หาทางออกที่ดีและค่อย ๆ เยียวยาความรู้สึกของเด็กด้วยวาจาที่สุภาพและอารมณ์ที่อ่อนโยน เวลาเราเจอปัญหาที่ส่งผลต่อจิตใจมาก ๆ เราทุกคนย่อมอยากได้หมอนหรือผ้าห่มผืนใหญ่ที่คอยโอบอุ้มเราไว้ในวันที่ล้มลง

 

ห้องเรียนสานสัมพันธ์

 

     ถ้าทุกวันคือวันที่ดี ความสัมพันธ์ทุกรูปแบบก็คงดีไม่ใช่น้อย จริง ๆ แล้วเรื่องราวการสานสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ใช้ได้กับทุกคน ทุกบทบาท ในฐานะครูและนักเรียน การสานสัมพันธ์จะตอบโจทย์ให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการศึกษา ดังนั้น หน้าที่ของครูควรเป็นมากกว่าผู้สอน ความใส่ใจนักเรียนต้องมาเป็นอันดับแรก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดความรู้ที่ดี รับบทเป็นเพื่อนที่ดีก่อนแล้วสวมบทบาทในฐานะครู เปิดโอกาสเปิดใจให้นักเรียนได้เรียนรู้ในการเข้าสังคมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ เพราะนี่อาจเป็นสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวให้พวกเขาอยากมาโรงเรียน 

 

แหล่งอ้างอิง 
https://bit.ly/3vgT9ID
https://bit.ly/3JQAcRg
https://bit.ly/3BQtHLF

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<


 

 

 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง