กลยุทธ์เปลี่ยนห้องเรียนแบบ Passive ให้เป็น Active Learning

 

กลยุทธ์เปลี่ยนห้องเรียนแบบ Passive ให้เป็น Active Learning

 

 

 
Active Learning เป็นคำที่เราได้ยินและคุ้นหูกันมานาน ครูหลายคนจัดการเรียนการสอนในรูปแบบนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะหลังเกิดโรคระบาดที่เด็กทั่วโลกต้องหันมาเรียนออนไลน์ เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้เราเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า การเรียนรู้ด้วยวิธีเดิม ๆ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด Active Learning จึงกลายเป็นการเรียนรู้ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายอีกครั้ง

 

 

ทำไมต้อง Active Learning

งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันถึงประโยชน์ของ Active Learning ว่า มีมากกว่าการเรียนการสอนแบบเดิม เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้นอย่างชัดเจน เคยมีการทดลองชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ปี 2011 ที่ให้นักเรียนเรียนวิชาฟิสิกส์เบื้องต้น 2 แบบ แบบแรก คือ ฟังแล้วจดเล็กเชอร์ทั่วไป กับแบบที่สอง คือ Active Learning ชั้นเรียนนี้จะเรียนกัน 15 สัปดาห์ โดยที่ 11 สัปดาห์แรก นักเรียนจะได้เรียนกับผู้สอนที่มีประสบการณ์ โดยใช้การสอนแบบมาตรฐาน แต่เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 12 จะมีการสุ่มเลือกนักเรียนครึ่งหนึ่งให้เรียนแบบ Active Learning ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งจะเรียนรู้แบบฟังบรรยาย ต่อมาก็จะให้ทั้งสองกลุ่มกลับกัน โดยที่สองกลุ่มนี้จะเรียนรู้เนื้อหาเดียวกัน จากนั้น นักเรียนแต่ละกลุ่มจะได้รับการสำรวจว่า นักเรียนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อความเหล่านี้ เช่น "ฉันรู้สึกว่าฉันได้เรียนรู้มากจากการบรรยายนี้" และ "ฉันหวังว่า ทุกชั้นเรียนวิชาฟิสิกส์ของฉันจะได้รับการสอนด้วยวิธีนี้" นอกจากนี้ นักเรียนยังได้รับการทดสอบว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างในชั้นเรียนด้วยคำถามแบบปรนัย 12 ข้อ และนี่คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง

 

กราฟเปรียบเทียบการเรียนรู้ของนักเรียนเมื่อเรียนแบบ Active Learning

 

 

จากกราฟนี้เราพบว่า "นักเรียนคิดว่าตัวเองได้เรียนรู้มากขึ้นจากเรียนแบบบรรยาย ทั้ง ๆ ที่นักเรียนทำคะแนนสอบได้ดีกว่าจากการเรียนรู้แบบ Active Learning นักวิจัยกล่าวว่า บ่อยครั้งที่นักเรียนดูเหมือนจะชอบการเรียนรู้แบบบรรยายที่ดูเรียบ ๆ ฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่า การรับรู้ของนักเรียนในเรื่องการเรียนรู้ของตัวเองนั้นไม่ตรงกับระดับการเรียนรู้จริง ๆ ของพวกเขา"    นี่จึงเป็นคำถามที่สำคัญ เพราะแม้นักเรียนจะรู้สึกว่าการเรียนแบบ Active Learning เป็นเรื่องลำบากในตอนแรก แต่สุดท้ายแล้ว นักเรียนก็จะเห็นประโยชน์ของมันในที่สุด เมื่อมีงานวิจัยรองรับถึงการเรียนรู้ที่มากขึ้นของนักเรียนเมื่อได้เรียนแบบ Active Learning แล้ว ประเด็นต่อมา คือ การจะเริ่มต้นจัดการเรียนรู้แบบนี้สามารถเริ่มจากตรงไหนได้บ้าง กลยุทธ์ของ Active Learning คืออะไร เราจะใช้รูปแบบ และเทคนิคการสอนอะไรได้บ้าง

 

 

ตัวอย่างรูปแบบการสอนแบบ Active Learning

1. 5Es (Engage – Explore – Explain – Extend –Evaluate )

  • Engage กระตุ้นความสนใจนักเรียนให้มากที่สุด โดยวิธีที่ใช้ต้องสัมพันธ์กับบทเรียน ครูสามารถประเมินความรู้ก่อนเรียนของนักเรียนในขั้นตอนนี้ได้ด้วย
  • Explore เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้างความรู้ความเข้าใจในตนเอง
  • Explain ให้นักเรียนมีโอกาสสื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และสิ่งที่ได้ค้นพบ
  • Extend นักเรียนนำความรู้ไปใช้
  • Evaluate ครูและนักเรียนประเมินความเข้าใจสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป

 

2. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon Based Learning: PheBL)

เริ่มใช้ครั้งแรกที่ฟินแลนด์ในปี 2016 โดยมีที่มาจากหลักสูตรแกนกลางแห่งชาติ ปี 2014 ลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ PheBL คือ

  • ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
  • บูรณาการแบบสหวิทยาการ
  • เรียนรู้ในชีวิตจริง ตามสภาพจริง
  • เรียนรู้แบบองค์รวมที่สอดคล้องกับบริบท
  • ผู้เรียนเป็นผู้มีบทบาทในการเรียนรู้
  • เรียนรู้โดยใช้การสืบเสาะหาความรู้

บทบาทครูจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นผู้ให้ความรู้กลายเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ผู้ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือให้นักเรียนสามารถสืบเสาะ ค้นหา และสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง

 

3. การใช้กรณีศึกษา (Case study method)

เป็นวิธีสอนที่ใช้กรณี หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงมาดัดแปลงให้นักเรียนได้ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง นักเรียนได้รู้จักวิธีคิด วิธีนำข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาในการตัดสินกรณีศึกษา

บทบาทผู้สอน มีดังนี้

  • เตรียมกรณีศึกษา ข้อมูล ข่าวสาร สื่อ เรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ
  • นำเสนอกรณีศึกษาให้นักเรียน หรือให้นักเรียนสมมติขึ้นก็ได้
  • ตั้งคำถามชี้ประเด็นให้นักเรียนเกิดความคิด
  • วิเคราะห์ และเชื่อมโยงกรณีศึกษานั้นกับเรื่องราวอื่น
  • ครูและนักเรียนอภิปรายเรื่องราวของกรณีศึกษานั้น
  • ครูให้นักเรียนสรุปแนวคิดที่ได้จากกรณีศึกษา

 

4. การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning: PrBL)

การจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้สามารถตั้งต้นได้จากปัญหา สถานการณ์ คำถาม เงื่อนไขหรือข้อจำกัด ความต้องการต่าง ๆ แล้วสร้างเป็นนวัตกรรม หรือชิ้นงาน เพื่อแก้ปัญหา หรือตอบคำถามในเรื่องนั้น ๆ

หลักการสำคัญของ PrBL

  • เชื่อมโยงกับชีวิตจริง
  • กระบวนการสืบเสาะหาความรู้
  • ช่วยให้นักเรียนได้ผลิตงาน
  • การแสดงผลต่อสาธารณชน
  • การดึงศักยภาพนักเรียน

 

5. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning: PBL)

เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีจุดเริ่มต้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหานั้นให้ได้

ขั้นตอนของ PBL

  1. ทำความเข้าใจคำศัพท์ หรือข้อความที่ปรากฏอยู่ในปัญหาให้ชัดเจน
  2. ระบุปัญหา
  3. ระดมสมอง
  4. วางโครงสร้าง และสมมติฐาน
  5. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้
  6. สืบค้นข้อมูล
  7. สังเคราะห์

ลักษณะของปัญหาที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้

  • ปัญหาในชีวิตจริง
  • ปัญหาสำคัญ และมีข้อมูลเพียงพอในการค้นหาความรู้
  • ปัญหาที่มีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน กระตุ้นให้มีความสงสัยใคร่รู้
  • ปัญหาที่จำเป็นต้องใช้การระดมความคิดเห็น หรืออภิปราย
  • ปัญหาปลายเปิด
  • เหมาะสมกับวัย และพื้นฐานความรู้ของผู้เรียน
  • มีความสอดคล้องกับหลักสูตร และเนื้อหา

 

6. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน (Game Based Learning: GBL)

การจัดการเรียนรู้ที่ใช้แนวคิดของการเล่นเกม เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ทักษะ หรือทัศนคติ รูปแบบของเกมจะเป็นแบบใดก็ได้ระหว่างบอร์ดเกม เกมในชีวิตจริง หรือเกมดิจิทัล ครูที่จะนำ GBL มาใช้ ควรเลือกเกมที่ผ่านการออกแบบมาอย่างมีประสิทธิภาพ คือ

  1. Practice ต้องแฝงแบบฝึกหัดต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองทำ
  2. Learning by Doing เน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
  3. Learning from Mistakes ให้นักเรียนเรียนรู้จากความผิดพลาด
  4. Goal-Oriented Learning ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในเกม
  5. Learning Point แฝงข้อมูล หรือประเด็นหลัก ๆ ที่นักเรียนควรรู้

 

 

เทคนิคน่าสนใจสำหรับ    Active Learning

การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning นอกจากจะมีรูปแบบที่หลากหลายแล้ว ยังมีเทคนิคอีกมากมายที่ครูสามารถหยิบจับมาผสมผสานเข้ากับการจัดการเรียนรู้ได้ โดยอาจพิจารณาจากลักษณะกิจกรรมว่า สำหรับนักเรียนกลุ่มไหน กลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก หรือคนเดียว เช่น

 

กิจกรรมกลุ่มใหญ่

  • Line-up นักเรียนเรียงแถวหน้ากระดาน ขวาสุด แปลว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง ซ้ายสุด แปลว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง นักเรียนแต่ละคนจะยืนในตำแหน่งต่าง ๆ ของแถวตามความคิดของตน จากนั้นนักเรียนอภิปรายกันว่า ทำไมถึงเลือกยืนตำแหน่งนั้น
  • Debates กิจกรรมโต้วาที สามารถใช้ได้ทั้งกลุ่มใหญ่ และเล็ก
  • Dotmocracy นักเรียนโหวตความคิดเห็น หรือประเด็นที่ตัวเองเห็นด้วย โดยการแปะจุดสติกเกอร์สี
  • Fishbowl แบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มเล็ก และกลุ่มใหญ่ โดยกลุ่มที่เล็กกว่าจะทำกิจกรรมที่ครูให้อยู่ตรงกลางคล้าย ๆ กับเป็นปลาทองในอ่าง โดยมีกลุ่มใหญ่คอยสังเกตอยู่รอบนอก จากนั้นทั้ง 2 กลุ่มจะสลับกัน
  • Index Card Pass แจกการ์ดสีให้นักเรียนแต่ละคนเขียนคำถามคนละ 1 คำถาม จากนั้นให้นักเรียนแลกการ์ดกันอย่างน้อย 4 ครั้ง นักเรียนจับกลุ่ม 3-4 คน แต่ละคนอ่านการ์ดของตัวเอง แล้วให้แต่ละกลุ่มเลือกคำถามจากการ์ดที่อยากจะนำมาอภิปรายด้วยกันมากที่สุด
  • Think-Pair-Share นักเรียนแต่ละคนคิดคำตอบจากโจทย์ที่ครูให้ จากนั้นจับคู่กับเพื่อนเพื่อแลกเปลี่ยนกัน เสร็จแล้วให้นักเรียนทั้งชั้นร่วมกันอภิปรายเป็นกลุ่มใหญ่

กิจกรรมกลุ่มเล็ก

  • Complete Turn Taking นักเรียนเตรียมคำถามที่จะนำมาอภิปรายคนละ 2-3 คำถาม จากนั้นนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำถาม แล้วให้นักเรียนที่อยู่ทางซ้ายได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง โดยที่จะไม่มีใครขัดจังหวะ เมื่อพูดจบก็ให้นักเรียนคนที่อยู่ทางซ้ายได้พูดต่อ หลังจากที่นักเรียน 3 คน แสดงความคิดเห็นแล้ว นักเรียนทั้งกลุ่มจะได้อภิปรายด้วยกัน 2 นาที เมื่อเสร็จแล้วนักเรียนคนต่อไปก็จะถามคำถามใหม่ วนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ
  • Peer Review นักเรียนสลับกันอ่านงานของเพื่อน 1-2 คน แล้วเขียนฟีดแบคให้ เสร็จแล้วพูดคุยสั้น ๆ 5 นาที เพื่อให้ฟีดแบคกับเพื่อน
  • Round Table จัดโต๊ะเป็นวงกลมให้ทุกคนเห็นหน้ากัน ครูถามคำถามโดยให้นักเรียนแต่ละคนแสดงความเห็น ถ้านักเรียนไม่ต้องการแสดงความเห็น สามารถบอกว่า “ผ่าน” ได้
  • Pro-Con Grids นักเรียนเขียนข้อดี ข้อเสียจากประเด็นที่ครูให้อย่างน้อยฝั่งละ 3 ข้อ เสร็จแล้วทั้งชั้นร่วมกันแลกเปลี่ยน และอภิปราย กิจกรรมนี้สามารถใช้ได้ทั้งกลุ่มเล็ก และเดี่ยว

กิจกรรมเดี่ยว

  • One Sentence Summary นักเรียนตอบคำถามโดยเขียนสรุปออกมาเป็นประโยคเดียวสั้น ๆ
  • Case Studies จะคล้าย ๆ กับการใช้กรณีศึกษาที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

กิจกรรมที่ใช้ได้ทั้ง 3 กลุ่ม

  • Post It Parade นักเรียนเขียนคำตอบ หรือความคิดเห็นของตนเองลงบน Post It แล้วนำไปแปะบนกระดาน

จาก Passive Learning ที่เคยใช้กันมา ครูสามารถเปลี่ยนให้เป็น Active Learning ได้ไม่ยากด้วยการทดลองนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเนื้อหาที่จะสอนมาใช้ แล้วเลือกเทคนิคการจัดกิจกรรมมาผสมผสาน เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่นักเรียนได้เป็นฝ่ายคิด และลงมือทำมากยิ่งขึ้น

 

 

ข้อมูลจาก

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. เรื่อง Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 

 
 
 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง