Growth Mindset สร้างได้ด้วยมือครู
Growth Mindset สร้างได้ด้วยมือครู
Growth Mindset หรือ กรอบความคิดเชิงบวก ที่สามารถพัฒนาและสร้างได้ในตัวบุคคล ปัญหาและอุปสรรคเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา ให้ความสำคัญกับความพยายาม เด็กที่มี Growth Mindset จะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้จากปัญหา สนุกเวลาเจอโจทย์ท้าทาย มีความพยายามที่จะหาทางแก้ไขปัญหาอุปสรรค พัฒนาสิ่งใหม่ ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ มักมีคําถามในเรื่องสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
ศาสตราจารย์ คารอล ดเว็ค (Carol S. Dweck) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ให้ความหมายของ Growth Mindset กรอบความคิดแบบเติบโต ว่าคือแนวความคิดที่ส่งผลต่อคุณลักษณะ รวมถึงพฤติกรรมและการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างตามรูปแบบของกรอบความคิดของแต่ละบุคคล สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ทั้งด้านเชวน์ปัญญา ทักษะ ความสามารถ และบุคลิกภาพ
เริ่มต้นที่คุณครู เรียนรู้การสร้าง Growth Mindset
Growth Mindset เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกวัย ตัวคุณครูเองสามารปรับเปลี่ยนเพื่อสร้าง Growth Mindset ได้ด้วย 5 ข้อนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับตนเองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
1. เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ ปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนแปลง
2. ยอมรับและมองความล้มเหลว (setbacks) และการย้อนกลับ (Feeback) เป็นโอกาสในการพัฒนาทักษะ
3. สร้างโอกาสให้กับตนเอง มองหาความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อการเรียนรู้และเปิดโลกใหม่
4. สร้างพลังบวกกับตัวเอง และสร้างความคาดหวังในตัวผู้เรียน
5. สื่อสารกับตนเองและกับผู้เรียนด้วยภาษา Growth Mindset เพื่อสร้างพลังบวกแก่กันระหว่างคุณครูและผู้เรียน
สร้างห้องเรียนด้วย Growth Mindset
การปลูกฝังให้ผู้เรียนมี Growth Mindset กระตุ้นที่อยากจะเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง คุณครูลองหาวิธีที่เหมาะสมกับบริบทของห้องเรียนและวัยผู้เรียน
วิธีการจากบทความนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะสำหรับห้องเรียนของคุณครูครับ
1. ก่อนที่จะพูดหรือกระทำสิ่งใด ลองพิจารณาการใช้ภาษาแบบ Growth Mindset เพื่อสร้างพลังบวก สร้างทัศนคติที่ดีให้กับตัวผู้เรียน เช่น “หนูทำไม่ได้ไม่เป็นไร ลองหาวิธีใหม่”
2. ชมอย่างเหมาะสม ไม่มากจนเกินไป หลีกเลี่ยงคำชม เช่น เก่ง ฉลาดมาก เพราะเป็นการลดแรงกระตุ้นและจะทำให้เด็กคิดว่าเก่งแล้ว ส่งผลต่อการปลูกฝัง Fixed mindset แต่เปลี่ยนเป็น “คุณครูภูมิใจที่หนูมีความตั้งใจเรียน” ชมด้วยเหตุผลที่แสดงถึงความตั้งใจ ความพยายามของผู้เรียน
3. ให้รางวัลกับความสำเร็จของผู้เรียน จากการทำกิจกรรมร่วมกัน ความขยันจากการตั้งใจเรียน
4. ท้าทายความสามารถผู้เรียนโดยแจ้งวัตถุประสงค์ให้ทราบตั้งแต่เริ่ม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรม
5. รู้จักและเรียนรู้จากความผิดพลาด พิจารณาจากความผิดพลาดนั้น แล้วลุกขึ้นมาพัฒนาตนเอง แล้วฝึกฝนอีกครั้ง
6. ใช้การย้อนกลับ หรือ feedback เป็นเทคนิคในการพัฒนาผู้เรียน และให้เวลาให้เค้าได้พัฒนาจุดด้อยนั้น
การสร้าง Growth Mindset ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเป็นเรื่องของการปลูกฝังและย้ำเตือนการสร้างทัศนคติที่ดีให้กับผู้เรียน จัดการกับความล้มเหลวของตนเอง และสร้างโอกาสเพื่อพัฒนาต่อ การสร้าง Growth Mindset ไม่ใช่เฉพาะตัวผู้เรียนเท่านั้น คุณครูเองก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวความคิดนี้ไปพร้อม ๆ กันเพื่อสร้างห้องเรียน Growth Mindset
ขอขอบคุณข้อมูล เว็บไซต์ : Irisconnect
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
บทความที่เกี่ยวข้อง